โครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 หัวข้อ สนุกวิทย์สร้างสรรค์นวัตกรรม โดยคณะวิทยาศาสตร์ มศว ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.นัทธีรัตน์ พีระพันธุ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มศว โดยมีอาจารย์ ดร.บงกช บุญบูรพงศ์ ประธานโครงการฯ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน
ความว่า “โครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อให้เยาชนที่เข้าร่วมโครงการในเครือข่ายจากโรงเรียนต่างๆ มีความรู้วิทยาศาสตร์และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ และมีแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม”
ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมการแสดงทางวิทยาศาสตร์ “โลกสวยด้วยมือเรา” โดยนายกฤษฎา เทียมเสมอ นิสิตชั้นปีที่ 1 กศ.บ.วิทยาศาสตร์ทั่วไป และเด็กชายอภิชาต ชัยสาร นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน / กิจกรรมวิทยาศาสตร์รูปแบบเวียนฐาน 3 ฐาน ฐานละ 1 ชั่วโมง ได้แก่ 1) ประติมากรรมกระดาษ (3R) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรศักดิ์ ละลอกน้ำ และทีมงาน “งานประติมากรรมกระดาษ 3 R คือการใช้กระดาษให้เกิดประโยชน์ ปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมเปิดและเป็นสังคมที่นิยมวัตถุ การดำรงชีวิตปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน เน้นความสะดวกสบายเป็นที่ตั้งในทุกๆ ด้าน แม้แต่เรื่องอาหารการกินปัจจุบันจะพบความจริงว่า อาหารสำเร็จรูปต่างๆ เป็นที่นิยมยิ่ง ถ้ามีภาชนะหีบห่อสวยงามและสลากชิงโชคต่างๆ เป็นสิ่งล่อใทุกคน จะไขว่คว้าหาให้ได้มา ภาชนะหีบห่อเหล่านั้นทำมาเพื่อการนั้นๆ โดยเฉพาะเมื่อหมดประโยชน์ก็จะทิ้ง ปัญหาเรื่องขยะมูลฝอยก็เป็นปัญหาหลัก จัดเก็บไม่หมดก็จะตกค้าง ปัญหามลพิษอื่นๆ ก็จะตามมาสิ่งแวดล้อมก็จะเสียไปนับวันปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นปัญหาและทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของท้องถิ่น พยายามหาทางและวิธีการเพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยและเศษสิ่งวัสดุเหลือใช้ ซึ่งบางชนิดมีปัญหาในการจัดเก็บและทำลาย บางชนิดสามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกจึงได้นำกระดาษที่ไม่ใช้แล้วในสถานศึกษานำมารีไซเคิลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในรูปแบบประติมากรรมกระดาษรีไซเคิล” 2) โคมไฟ DIY โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธันยากร ช่วยทุกข์เพื่อน และทีมงาน 3) นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ โดย อาจารย์ ดร.บงกช บุญบูรพงศ์ และทีมงาน หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ แล้ว ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการได้ร่วมกันถอดบทเรียนจากกิจกรรมวิทยาศาสตร์นั้นๆ โดยคณาจารย์ทั้ง 3 ท่านดังกล่าว