เพื่อขยายความก้าวหน้าทางวิชาการและความเป็นเลิศทางวิชาการของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังเป็นการทำให้เห็นว่าแนวทางที่มหาวิทยาลัยได้วางกรอบกำหนดไว้ว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคมนั้น มศว เรามาถูกทางแล้ว โดย ล่าสุด รองศาสตราจารย์ชลวิทย์ เจียรจิตต์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มศว ของเรา ก็ได้เปิดเผยอย่างเป็นทางการต่อสื่อโซเชี่ยล มติชนออนไลน์ ให้เป็นที่รับรู้แก่สังคมวงกว้างภายนอกว่า ขณะนี้ คณะสังคมศาสตร์ มศว เตรียมเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี “กฎหมายเพื่อสังคม”
“มศว เตรียมจัดงานสัมมนาทางวิชาการ ได้แก่ ‘สัมมนาทางวิชาการเรื่อง แนวทางวิชาการพัฒนาสังคม ด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดี’ จะผลักดันให้นิสิต มศว ได้เสนอความคิดเห็นผ่านเวทีและสื่อต่างๆ เริ่มจากเวทีเสวนาเรื่อง ‘เมาไม่ขับ ขยับที่ตัวเรา’ จัดโดยชมรมเมาไม่ขับของ มศว ที่จัดตั้งเป็นแห่งแรกในสถาบันอุดมศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งในอนาคตจะเชิญจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วม นอกจากนี้จะสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ‘การศึกษาเพื่อสังคมอันยั่งยืน’ โดยอาจจะเสวนาเกี่ยวกับงานวิจัยหรืออาจเชิญทูตอาเซียน 10 ประเทศมาพูดคุย
“เนื่องจาก มศว มีมุมมองเรื่องการรับใช้สังคม จึงได้เปิดหลักสูตรนิติศาสตร์ (เพื่อสังคม) ระดับปริญญาตรี ซึ่งจะเป็นหลักสูตรกฎหมายที่เน้นการไกล่เกลี่ย เจรจาความ โดยจะเชิญผู้มีประสบการณ์มาให้ความรู้ อาทิ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย รวมถึง อาจารย์ที่เป็นนักกฎหมายรุ่นใหม่ โดยจะเปิดรับนิสิตในปีการศึกษา 2562 ทั้งหลักสูตรปกติและหลักสูตรพิเศษ นอกจากนี้ อยู่ระหว่างเตรียมเปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านการจัดการทางสังคม ภาคปกติและภาคค่ำและหลักสูตรการสอนทางสังคมศาสตร์ ระดับปริญญาโทและเอก” คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มศว กล่าว
มศว ของเรามีคณะน้องใหม่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 คือคณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม ที่ได้ยกมาตรฐานยกฐานะจากภาควิชาบริหารธุรกิจขึ้นเป็นคณะใหม่ที่กล่าวนี้ ด้วยการสนับสนุนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นเรื่องของกฎหมายเพื่อสังคมนี้ก็สำคัญอย่างยิ่งและถือเป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคนที่ควรจะรู้ เดี๋ยวนี้การไม่รู้กฎหมายก็ทำให้เราผิดพลาดพลั้งเผลอโดยอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยิ่งถ้าเป็นการศึกษากฎหมายเพื่อสังคมที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมส่วนรวม ทำให้ชาติบ้านเมืองหรือสังคมของเรามันมีความสุขสงบ น่าอยู่ มีสันติสุข ไม่มีพรรคพวก ไม่มีฝักฝ่าย ไม่แตกคอแตกแยกกัน มันก็น่าจะดี คนรุ่นใหม่หรือนักกฎหมายรุ่นใหม่จะมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการเจรจาความหรือช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ข้อคดีฟ้องร้องต่างๆ ช่วยให้การทำงานของกระบวนการยุติธรรมลดน้อยลงเพราะเจรจายอมความกันได้ คดีที่ว่ามีมากอยู่แล้วก็จะน้อยลงได้บ้าง ไม่ต้องรอให้ไปถึงการพิจารณาของผู้พิพากษาที่มีคดีรอการพิจารณาตัดสินมากล้นมืออยู่แล้วในแต่ละวัน คดีเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะเข้าสู่การไกล่เกลี่ยหรือเจรจายอมความกันได้ก็จะได้เป็นอันสิ้นสุดในชั้นนี้ การเปิดหลักสูตรนี้จึงมีส่วนช่วยสังคมของเราได้อย่างยั่งยืน
ส่วนวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร / รายงาน