بازی انفجار سایت پیش بینی سایت شرط بندی
Jewelry Season แฟชั่นโชว์อัญมณีนิสิต CCI มศว - PRswu

Jewelry Season แฟชั่นโชว์อัญมณีนิสิต CCI มศว

The Traditional Aesthtic Jewelry Season ครั้งที่ 29 โดยได้รับเกียรติจาก นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี คณบดีวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ณ มศว ประสานมิตร
The Traditional Aesthtic Jewelry Season ครั้งที่ 29 เป็นงานแสดงผลงานการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับของนิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับที่มีแรงบันดาลใจมาจากศิลปะความงดงามของลวดลายต่างๆ ที่ปรากฏภายในโบราณสถานของวัดสำคัญต่างๆ ดังนี้

เครื่องประดับคอลเลคชั่นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  : เครื่องประดับคอลเลคชั่นวัดพระแก้ว ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมภายในวัด ซึ่งนิสิตกลุ่มที่ออกแบบได้นำลายดอกบัวที่ปรากฏอยู่ที่ปราสาทพระเทพบิดรและกำแพงทางเข้าพระอุโบสถมาตัดทอนเป็นลวดลาย ซึ่งดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งดอกบัวยังเป็นดอกไม้ชนิดแรกที่เกิดมาพร้อมพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องหมายบุพนิมิตในการอุบัติของพระพุทธเจ้าและยังเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ความดี ปัญญาและการหลุดพ้นต่างๆ  ดอกบัวเป็นราชินีของดอกไม้น้ำสำหรับการออกแบบเครื่องประดับแต่ละชิ้น ซึ่งได้บรรจงออกแบบลวดลายเครื่องประดับคอลเลคชั่นวัดพระแก้วนี้ให้มีเอกลักษณ์ กลิ่นอายของวัดพระแก้วที่สวยงาม สง่างามดังกล่าว
เครื่องประดับคอลเลคชั่นวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร : เครื่องประดับนี้ได้รับแรงบันดาลใจมากจากรอง “พระปรางค์” ภายในวัดที่มีความเป็นเหลี่ยมมุมและได้มีการตัดทอนลวดลายดอกไม้โดยใช้เป็นวิธีการฝังพลอยสี  การออกแบบจึงเน้นไปที่รูปทรงของตัวเรือนให้มีความเป็นมุมและทรงแปดเหลี่ยมที่มีสีสันหลากหลายของพลอย โดยองค์พระปรางค์มีพื้นเป็นสีขาวตัดกับลวดลายของดอกไม้หลากสี มีฐานเป็นทรงแปดเหลี่ยมสลับชั้นกันขึ้นมาเป็นมุม ซึ่งพระปรางค์เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดของวัดอรุณฯ เพราะเป็น “ปรางค์สมัยรัตนโกสินทร์แบบอิทธิพลขอมของอยุธยา” ก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราชและได้บูรณะเรื่อยมาจนเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงถือได้ว่าเป็นพระปรางค์ที่แตกต่างจากองค์อื่นในประเทศไทย
      

เครื่องประดับคอลเลคชั่นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) : ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมของวัดและประติมากรรมบนเจดีย์ คือ “ซุ้มประตู” และ “ดอกโบตั๋น” ซึ่งในการออกแบบเครื่องประดับนี้ก็ได้ตัดทอนรายละเอียดของซุ้มประตูให้คงรูปทรงโค้งสไตล์จีนแบบดั้งเดิมแล้วมีการปรับลวดลายบางประการ เพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงานออกมาได้ ในส่วนของลายกระเบื้องลวดลายดอกไม้ของวัดโพธิ์นี้ส่วนมากมักเป็นดอกโบตั๋น ซึ่งทำให้เห็นว่าเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมความงามของจีนโดดเด่นอยู่ด้วย ทำให้เป็นข้อบ่งชี้ชัดได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 ไทยได้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมกับจีน อีกทั้งยังเป็นวัดที่มีเรื่องราวน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ศิลา การนวดแผนไทย รูปปั้นต่างๆ  เช่น รูปปั้นยักษ์ รูปปั้นฤษีดัดตน การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรก ทั้งนี้วัดโพธ์ยังมีความหมายว่า “ที่อยู่อันสวยงามของพระพุทธเจ้า”
เครื่องประดับคอลเลคชั่นวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร : ได้รับแรงบันดาลใจมาจากส่วนของเพดานพระวิหาร และนำมาออกแบบลวดลายและตัดทอนให้เหลือเป็นโครงสร้างแล้วนำเอาลายจิตรกรรมกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ลายดอกไม้มาดัดแปลง โดยเพดานของพระวิหารมีรูปแบบเป็นวงโค้งประดับลวดลายใบไม้ ดอกไม้ และมีเสาเซาะร่องแบบตะวันตก อีกทั้งโทนสีที่ใช้ภายในวัดยังเป็นโทนสีแบบที่ชาวตะวันตกใช้ ภายในพระวิหารยังประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย นาม “พระประทีปวโรทัย”  จะเห็นได้ว่าสถาปัตยกรรมมีิอิทธิพลตะวันตกแทรกอยู่ แสดงให้เห็นว่าในช่วงรัชกาลที่ 5 ได้มีการติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับตะวันตกหรือยุโรป เพื่อให้ชาติบ้านเมืองมีความเป็นสากลมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน
โดยผลงานการออกแบบเครื่องประดับคอลเลคชั่นเหล่านั้นซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมความงดงามหรือโบราณสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดต่างๆ ดังกล่าวเหล่านั้น ภายใต้แนวคิด The Traditional Aesthtic ของการจัดงาน Jewelry Season ครั้งที่ 29 นี้ ได้ถูกผลิตขึ้นเป็นชิ้นงานเครื่องประดับที่สวมใส่ใช้งานได้จริงและแสดงแบบแฟชั่นโชว์อย่างสวยงาม ส่งผลให้การเรียนหลักสูตรอัญมณีและเครื่องประดับของนิสิตสาขานี้ ประสบผลสำเร็จสู่สายตาผู้คนทั่วไปอย่างน่าภาคภูมิใจ
โอกาสนี้ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กล่าวให้แรงบันดาลใจแก่นิสิตสาขาอัญมณีและเครื่องประดับด้วยความชื่นชมในความรู้และความสามารถของนิสิตที่สื่อแสดงตีความหมายใหม่ ซึ่งหลักสูตรอัญมณีและเครื่องประดับนี้ เน้นสร้างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าว ผ่านการทำจริง ผสานองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และศิลปะจนทำให้นิสิตสามารถมีผลงานที่น่าสนใจมากสู่ตลาดได้ในวันนี้

 

 

Share