بازی انفجار سایت پیش بینی سایت شرط بندی
คณะเทคโนเกษตรฯ มศว รับนโยบาย อว. ลงพื้นที่พัฒนาชุมชน ด้วย “BCG Economy” - PRswu

คณะเทคโนเกษตรฯ มศว รับนโยบาย อว. ลงพื้นที่พัฒนาชุมชน ด้วย “BCG Economy”

จากที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้จัดทำข้อเสนอ “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG Economy”คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) รับหน้าที่ในการดูแลพื้นที่ 3 ตำบลในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ ตำบลหนองผักนาก ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก และตำบลทะเลบก อำเภอดอนเจดีย์ และได้ดำเนินโครงการ ทั้งการลงพื้นที่สำรวจผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน การให้ความรู้พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์รวมไปถึงการวางแผนธุรกิจและให้ความรู้ด้านการขายผ่านออนไลน์ โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2565

BCG โมเดล ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน“โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG Economy” ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยมีเป้าหมาย เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถ                  ในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มการจ้างงานบัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษาและประชาชนในพื้นที่ พัฒนากำลังคนให้มีทักษะต่อการทำงานในปัจจุบันและทักษะที่เกี่ยวข้องกับ BCG และพัฒนาฐานข้อมูล Thailand Community Big Data (TCD) ให้มีความครอบคลุมและสมบูรณ์

คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร ได้รับผิดชอบใน 3 ตำบล ในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ ตำบลหนองผักนาก ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก และ ตำบลทะเลบก อำเภอดอนเจดีย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดำเนินการโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ปี 2564 อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งแต่ละพื้นที่มีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันดังนี้

ตำบลหนองผักนาก  จากการสำรวจพื้นที่เบื้องต้น พบว่าวิสาหกิจชุมชนบ้านสิบแรดมีผลิตภัณฑ์ คือ ข้าวบรรจุถุงและกล้วยฉาบ มีการจัดจำหน่ายในชุมชนและผ่านช่องทางออนไลน์ในเพจเฟซบุ๊ก ในชื่อข้าวเพื่อสุขภาพ ไร่ทรัพย์ฉายอรุณ แต่ยอดขายค่อนข้างต่ำ

ตำบลบ้านสระ จากการสำรวจพื้นที่เบื้องต้น พบว่าวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตน้ำพริกเผาและพริกแกงสูตรโบราณนี้มีความต้องการในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และฉลาก กระบวนการผลิต ช่องทางการขายหน้าร้านและการขายออนไลน์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์น้ำพริกเผาและพริกแกงสูตรโบราณ ตำบลบ้านสระ เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและนำไปสู่รายได้แก่สมาชิกที่เพิ่มสูงขึ้น

ตำบลทะเลบก จากการสำรวจพื้นที่เบื้องต้น พบว่าในพื้นที่มีกลุ่มชุมชนที่เลี้ยงจิ้งหรีด และมีความสนใจที่จะขยายตลาดโดยการนำจิ้งหรีดทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ชุมชนมีความต้องการความรู้ในบริบทที่แตกต่างกัน การที่คณะได้ลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ โดยใช้ “เศรษฐกิจ BCG Economy” เป็นการปรับการให้ความรู้ที่ตรงตามความต้องการ ทั้งการสร้างความรู้ช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้าและวิธีการขายใหม่ๆ ให้กับชุมชนตำบลหนองผักนาก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชนตำบลบ้านสระ และการให้ความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ของชุมชนตำบลทะเลบก การรับนโยบายและลงพื้นที่ของคณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร จึงเป็นการเข้าถึงชุมชนและสร้างความรู้ในการพัฒนาชุมชนได้อย่างตรงจุดอย่างแท้จริง

 

สามารถติดตามข่าวการดำเนินโครงการและภาพถ่ายเพิ่มเติมได้ที่
เฟซบุ๊ก AI swu https://www.facebook.com/profile.php?id=100057058616654

ข่าว : ส่วนวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร

ข้อมูล /ภาพถ่าย : คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร

Share