วานนี้ (วันที่ 21 กันยายน 2563) คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดี มศว เข้าเยี่ยมชม ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ Huawei Asia Pacific CSIC โดยบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ประเทศไทย ได้เรียนเชิญให้ทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน สำนัก ศูนย์ ของ มศว ทุกท่านได้รับโอกาสเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยาย การพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้และเทคโนโลยี ในการนำมาใช้พัฒนาการจัดการเรียนรู้ ความปลอดภัยและการบริหารจัดการองค์กร
ทั้งนี้ มศว และ บริษัท หัวเว่ยฯ ได้มีความร่วมมืออันดีต่อกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยผ่านกิจกรรมของการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีเรื่องของวิทยาการความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีจากกลุ่มของบริษัท หัวเว่ยฯ มาช่วยขับเคลื่อน สนับสนุน อาทิ จากการที่วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว ได้ร่วมกับ บริษัท หัวเว่ยฯ ได้มอบทุนการศึกษากับนิสิตที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมลำดับที่ 1 ของทุกวิชาเอก เพื่อเรียนรู้และเยี่ยมชมความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี ณ ศูนย์พัฒนานวัตกรรมและวิจัยหัวเว่ย (HUAWEI R&D CENTER) ณ นครเซียงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้กลุ่มบริษัทโมโน ร่วมกับบริษัท หัวเว่ยฯ ยังได้เคยจัดกิจกรรม HUAWEI FILMMAKING WORKSHOP เรียนรู้เทคนิคการผลิตภาพยนตร์สั้นด้วยโทรศัพท์ HUAWEI โดยได้รับเกียรติจาก คุณคงเดช จาตุรันรัศมี ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง (WHERE WE BELONG / SNAP / ตั้งวง) มอบความรู้เทคนิคการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ พร้อมทั้งเรียนรู้เทคนิคการถ่ายวีดีโอแบบมืออาชีพผ่านโทรศัพท์ HUAWEI อีกทั้งให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ร่วมผลิตภาพยนตร์และใช้เครื่องมือจริง พร้อมรับคำแนะนำจากคณะกรรมการ ซึ่งได้คัดเลือกทีมที่มีผลงานดีที่สุดเพื่อรับรางวัลจากคณะกรรมการอีกด้วย
นอกจากนี้ อธิการบดี รศ.ดร. สมชาย ยังได้เคยขึ้นเวทีแสดงทัศนะถึงแนวนโยบายในการพัฒนามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในโอกาสครบรอบ 70 ปีของมหาวิทยาลัย ความตอนหนึ่งว่า “มหาวิทยาลัยร่วมมือกับบริษัทหัวเว่ยฯ ในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีและการนำ Wi-Fi 6 มาให้นิสิตใช้เป็นที่แรกของประเทศไทยและการศึกษาดูงานของนิสิตในคณะที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม ของเรา เพราะนี่เป็นช่วงเวลาแห่งความร่วมมือและทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ภาครัฐและเอกชนไปจนถึงระดับนานาชาติ โดยนำความชำนาญจากการปฏิบัติจริงของภาคเอกชนมาสู่ห้องเรียนและนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยมาใช้บูรณาการร่วมกับการจัดการเรียนการสอน งานวิจัย งานวิชาการ อันเป็นความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตรมาใช้ในด้านการศึกษา รวมถึงการแลกเปลี่ยนนิสิต คณาจารย์ นักวิจัย กับต่างประเทศ การเปิดรับนิสิตนานาชาติเพิ่มมากขึ้น อาทิ ประเทศจีน อินเดีย เพื่อสร้างบรรยากาศสังคมการเรียนรู้แบบสากลในมหาวิทยาลัย โดยได้รับสนับสนุนกิจกรรมจากบริษัทหัวเว่ยฯ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ทำร่วมกับ มศว ภายใต้โครงการเพิ่มพูนประสบการณ์ต่างประเทศ ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการกับ HUAWEI TECHNOLOGIES”
ปัจจุบัน บริษัทหัวเว่ยฯ เป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคมสัญชาติจีน ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีน รวมทั้งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์และติดตั้งงานโครงสร้างพื้นฐานของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก โดยกิจกรรมที่บริษัท หัวเว่ยฯ จัดให้คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เยี่ยมชม Gallery เทคโนโลยีและนวัตกรรมของหัวเว่ยฯ หรือ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ Huawei Asia Pacific CSIC ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการก้าวไปสู่การใช้นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัยได้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไรนั้น เป็นสิ่งที่เราชาว มศว ในปัจจุบันและอนาคต คงต้องร่วมกันเดินหน้าต่อไปอย่างชาญฉลาด รู้เท่าทันเทคโนโลยีที่นับวันจะพัฒนาล้ำหน้าก้าวไกลกว่าที่คิด ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า โลกเปลี่ยน คนก็ต้องปรับ อย่างน้อยที่สุด องค์ความรู้ที่วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีของบริษัท หัวเว่ยฯ ได้ใช้เวลานานนับหลายชั่วโมงบรรยายถึงความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่หัวเว่ยนำมาใช้กับภารกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด -19 ตลอดจน ภารกิจที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และแน่นอนว่าความรู้เทคโนโลยีเหล่านั้น กำลังจะได้รับการต่อยอดไปสู่การนำไปใช้ได้จริงในอนาคตอันใกล้กับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน เทคนิค สื่อ การสอนแบบยุคใหม่ อีกมากมายหลายรูปแบบ เพราะ บริษัท หัวเว่ยฯ ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีและโซลูชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี 5G, Safe City, Smart Campus, Unmanned Solution and Digital Office โดยสิ่งที่คณะผู้บริหาร มศว ทุกท่านได้รับฟังแล้วนั้นจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการวางแผนสำหรับพัฒนาการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น สะดวกรวดเร็วและทันสมัยมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการใช้ทรัพยากรไอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยบริษัท หัวเว่ยฯ มีความยินดีที่จะจัดนัดหมายการสนทนาระหว่างตัวแทนผู้บริหารของบริษัทฯ และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นโอกาสในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีไอซีทีได้