แบงค์ – รัตนโชค คุณเจริญ นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการแสดงและการกำกับการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ หนึ่งในสมาชิก “หมาฟรีแลนซ์” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศหนังสั้น หัวข้อ “สัตว์ปลอดโรค…คนปลอดภัย” เราไปพูดคุยกับแบงค์เกี่ยวกับไอเดียการทำหนังสั้นในครั้งนี้ดีกว่าว่าเกิดจากอะไรทำไมหนังสั้นของหมาฟรีแลนซ์ถึงได้โดนใจคณะกรรมการในการประกวดหนังสั้นในครั้งนี้
👨👨👦👦 สมาชิกหมาฟรีแลนซ์
รัตนโชค คุณเจริญ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วีรภัทร บุญมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ยิ่งยง วงศ์ตาขี่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เกียรติพงษ์ ลงเย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
การรวมตัวกันของ “หมาฟรีแลนซ์”
ผมทำละครเวทีข้างนอกอยู่แล้ว ทั้งละครเวทีโรงเล็กและละครเวทีโรงใหญ่ แล้วได้เจอกับพี่วีรภัทร ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของทีม ทำละครเวทีด้วยกันและได้ชักชวนทำหนังสั้น โดยพี่เค้าเองมีความถนัดฟิล์มและกล้อง ส่วนผมเรียนเอกการแสดงมาและชอบดูหนัง เลยอยากทำอะไรแบบนี้ด้วยอยู่แล้ว พอมีโปรเจคนี้ก็เลยรวมทีมกัน และโปรเจคที่เราทำกันมันเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์ความรู้ต่อสังคมเลยอยากจะทำ
แนวคิดของหนังสั้น “หมาฟรีแลนซ์”
สมาชิกในทีมทุกคนทำงานฟรีแลนซ์ รายได้ไม่ค่อยแน่นอน ไม่มีความมั่นคง พี่ในทีมเสนอไอเดียว่าแต่การเป็นฟรีแลนซ์ของพวกเราสามารถนำมาใส่ในหนังสั้นโรคพิษสุนัขบ้าได้ เพราะสัตว์เลี้ยงไม่สามารถที่จะพาตัวเองไปฉีดยา หาหมอเองได้ แต่ถ้าหากสัตว์เลี้ยงเหล่านี้มีเจ้าของได้รับการดูแลเอาใจใส่ พาไปหาหมอ ฉีดยา สัตว์เลี้ยงก็จะปลอดภัยจากโรค มันก็เหมือนอาชีพฟรีแลนซ์ มีคนคอยซัพพอต ลูกค้าจ่ายเงินค่าจ้างตรงเวลามันก็จะทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานต่อไป ซึ่ง“หมาฟรีแลนซ์” ก็เปรียบเสมือนหมาที่เป็นโรค ไม่มีคนซัพพอร์ต ดูแล
ระยะเวลาในการเตรียมขั้นตอนการผลิตเพื่อส่งเข้าประกวด
การเสนอไอเดียพูดคุยกันถึงเรื่องบท ไดอะล๊อก ต่างๆไม่เกินสองสัปดาห์ และลงมือถ่ายทำไม่เกินสองวันเพราะจะมีเก็บรายละเอียดต่างๆ ส่วนด้านการตัดต่อประมาณสองสัปดาห์ process โดยรวมก็จะอยู่ประมาณหนึ่งเดือนนิดๆจนออกมาเป็นหนังสั้นหนึ่งเรื่อง
บทบาทหน้าที่ของแต่ละคน
ผมรับหน้าที่เป็นนักแสดงหลักของเรื่องแต่ก็มีโอกาสได้เสนอไอเดียให้กับพี่ๆในทีมได้นำมาใช้ในหนังสั้น แต่ไอเดียตั้งต้นของการทำ “หมาฟรีแลนซ์” ก็จะมาจากพี่ๆในทีมที่ทำงานด้านนี้มาโดยเฉพาะ พี่อีกคนจะรับหน้าที่เป็นผู้กำกับ อีกสองคนก็จะรับหน้าที่แสดงและตัดต่อ
ละครหรือการแสดงต่างๆจะไม่มีผลหากเราไม่ส่งสารหรือเรื่องราวให้ใครสักคนรับรู้ มันก็จะไม่เกิดประโยชน์เลย
นำสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้กับ “หมาฟรีแลนซ์”
การเรียนละครเวทีหรือเรียนอะไรที่เป็นทักษะด้านศิลปะการแสดง อาจารย์จะบอกเสมอว่า “ละครหรือการแสดงต่างๆจะไม่มีผลหากเราไม่ส่งสารหรือเรื่องราวให้ใครสักคนรับรู้ มันก็จะไม่เกิดประโยชน์เลย” สิ่งนี้เราได้นำมาใช้แน่นอนกับการทำหนังหรือศิลปะทุกๆอย่าง ยิ่งการทำหนังสั้นและเฉพาะทางเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า เราคงได้ให้ความรู้กับผู้ที่ได้รับชมบ้างไม่มากก็น้อย
ละครเวทีกับหนังสั้น มีความแตกต่างมากน้อยอย่างไรบ้าง
ในด้านของการเป็นนักแสดงแตกต่างกันมากเพราะละครเวที หากเทียบเหมือนการถ่ายหนัง ละครเวทีเราจะต้องจำบทและเล่นเทคเดียวจบ แต่พอมาเป็นหนังสั้นความละเอียด การเก็บงาน ต้องใส่ใจเรื่องความเป็นศิลปะมากขึ้น เช่นถ่ายซีนเดียวแต่ต้องถ่ายหลายกล้อง หลายมุม เราต้องเล่นบทเดิมหลายๆครั้ง แตทักษะที่ได้นำมาใช้คือพื้นฐานเดียวกัน
รางวัลที่ได้รับ
รางวัลชนะเลิศ จำนวน 40,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ประเภทหนังสั้น
❤️ ฝากถึงคนที่อยากเริ่มทำและส่งผลงานเข้าประกวด
ถ้าหากได้รับโจทย์และมีไอเดีย ก็ขอให้กล้าที่จะลองทำ แล้วจะรู้ว่าเราสามารถทำมันได้มากน้อยขนาดไหน ไอเดียแรกอาจจะไม่ใช่ไอเดียที่ดีที่สุด มันจะต้องถูกพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าคนที่รักหนังหรือรักการแสดงคงมีอะไรในใจที่อยากจะสื่อสารให้คนดูได้รับรู้ ลองหาแรงบันดาลใจและเมื่อพร้อมก็ขอให้ทำมันอย่างเต็มที่
✏️ เรื่อง : Keerati
📷 ภาพ : Kritsuwat