นอกเหนือจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว เห็นทีจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารนี่เอง ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ประเทศพัฒนาก้าวไกลไปข้างหน้า เพราะความเป็นประเทศแหล่งวัตถุดิบด้านการเกษตรจนทำให้ไทยเรากลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารไปทั่วโลก แต่ภายใต้จุดแข็งเช่นนี้ เรากลับมีจุดอ่อนก็คือ การที่ผู้ประกอบการยังขาดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยเฉพาะการผลิตสินค้าแบบเดิมๆ ไม่ได้ใส่นวัตกรรม ไม่ได้ “ปั้นธุรกิจนวัตกรรมอาหารและธุรกิจ” ให้สามารถมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์และมีมูลค่าเพิ่ม
คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) แม้จะมีอายุเพียง 12 ปีที่เปรียบได้กับเด็กสาวแรกรุ่นหัวใจติดปีกนวัตกรรม พร้อมจะคิดใส่ไอเดียใหม่ๆ ให้กับการเรียนรู้ในเรื่องของนวัตกรรมอาหารและธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าคิดจะสร้างอาชีพก็ต้องมาฟังคำบอกเล่าจากคณบดีคณะเทคโนโลยีฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา มิ่งเมือง ว่า 4 หลักสูตรที่มีทั้งหมดของคณะนี้ มีดีที่ตรงไหน ทำไมน้องๆ นักเรียนมัธยมปลายถึงโฟกัส
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา มิ่งเมือง
คณบดีคณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร
อยากเรียนกันปีละคราวมากๆ “คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตรหรือ เอไอ (AI) ของเรา
มีหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในตอนนี้และในอนาคต 4 หลักสูตร ได้แก่
1.หลักสูตรวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ (4 ปี)เป็นการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์
และโภชนศาสตร์มาแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรเป็นอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย เสริมสร้างสุขภาพของผู้บริโภคให้แข็งแรง และสามารถต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นทางด้านอาหารให้เกิดคุณภาพที่เหมาะสม
2.หลักสูตรเทคโนโลยีวัสดุพอลิเมอร์ (4 ปี)เป็นการนำความรู้ด้านวัสดุศาสตร์มาแปรรูปวัตถุดิบท้องถิ่นทางการเกษตรให้เป็นวัสดุที่มีมูลค่าเพิ่มและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อ อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม
3.หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพและผลิตภัณฑ์การเกษตร (4 ปี /2 ภาษา) เป็นการนำความรู้ด้านชีววิทยา
จุลชีววิทยา พันธุศาสตร์และด้านอื่นที่เกี่ยวข้องมาเปลี่ยนแปลงชีววัตถุจากผลผลิตการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
4.หลักสูตรนวัตกรรมอาหารและธุรกิจ
จริงๆ นอกจากจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับคนภายในมหาวิทยาลัยเราเองแล้ว เรายังต้องทำให้สังคมภายนอกรับรู้ได้ถูกต้องตรงกันว่า คณะเราหรือชื่อย่อว่า เอไอ (AI) ของเราสอนอะไร เรียนอะไร ไม่ใช่การเรียนการเกษตรเพราะมีคำว่าการเกษตร มีคำว่า นวัตกรรมและมีคำว่าผลิตภัณฑ์ที่มาเกี่ยวข้องกับการเกษตรอีกด้วยและมีคำว่าเทคโนโลยีด้วยอีกต่างหาก ใช่ค่ะ เป็นชื่อที่ยาวมากแต่มีความชัดเจนในวิชาที่เรียนและสอน หลักสูตรของเราร่วมสมัยเป็นสากล ตอบโจทย์สังคมผู้ผลิตและผู้บริโภคทั้งในด้านอุตสาหกรรมผู้ผลิต ผู้แปรรูปผลผลิตเกษตรกรรม อย่างในเรื่องของหลักการแปรรูปอาหาร ก็เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเปลี่ยนวัตถุดิบทางการเกษตร ให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารใหม่หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น” ซึ่งจากการพูดคุยกับท่านคณบดีแจนแล้ว ทำให้ได้คำตอบว่าหลักสูตรที่น่าจะโดนใจวัยทีนยุคนี้และยุคหน้า คือ “หลักสูตรนวัตกรรมอาหารและธุรกิจ” เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นหลักสูตรล่าสุด พ.ศ.2562 แล้วยังเป็นหลักสูตรที่คณะฯ สามารถตอบโจทย์แนวนโยบายเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของภาครัฐบาลได้ โดยเห็นว่าในการพัฒนาผู้ประกอบการด้านธุรกิจอาหารนั้น นิสิตที่เรียนจบไปต้องพร้อมรับกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยในยุคปัจจุบันที่ต้องการเป็น “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” นั้นได้ด้วย ผู้เรียนต้องเป็นผู้ที่มีความรู้พื้นฐานด้านการผลิตอาหาร กฎหมายอาหาร ความปลอดภัยทางอาหาร ความรู้ด้านการเป็นผู้การประกอบการด้านการผลิตอาหาร เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประกอบธุรกิจทางด้านอาหารได้ในอนาคต นอกจากนี้ควรมีการพัฒนาทักษะความสามารถด้านสังคม (soft skills) มีทักษะในการแก้ปัญหา (problem solving skill) มีทักษะความคิดเชิงตรรกะ (logical thinking) ที่มุ่งเน้นความเป็นเหตุและผลที่ต่อเนื่องกัน มีทักษะการสื่อสาร (communication skill) ที่ดี และมีทักษะสร้างสรรค์ (creativity skill) เพื่อให้ผู้เรียน สามารถสร้างสรรค์ พัฒนานวัตกรรมอาหารและการบริการอาหารด้วยทักษะมืออาชีพ ดังนั้นหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมอาหารและธุรกิจ ได้พัฒนาขึ้นโดย กำหนดให้ผู้เรียนได้เรียนวิชาเฉพาะด้านทางนวัตกรรมอาหารและการบริการอาหาร จำนวน 37 หน่วยกิต และ ด้านธุรกิจ จำนวน 33 หน่วยกิต รวมทั้งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะปฏิบัติการ ผ่านกรณีศึกษาของภาคธุรกิจและการฝึกงาน ตั้งแต่ปี 2 ถึงปี 4 รวมทั้งมีการกำหนดแผนสหกิจศึกษาอีกด้วย”
ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลไทยได้ประกาศนโยบายที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของ ประเทศไทย ไปสู่ “value–based economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” โดยมีฐานคิดหลัก คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” เปลี่ยนจากการขับเคลื่อน ประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่โครงสร้างการผลิตที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เป็น 1 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งเน้นที่จะพัฒนา และเป็นความหวังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ไปสู่เป้าหมาย โดยการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่ไปสู่ smart enterprises และ startup รวมทั้งสร้างสังคมผู้ประกอบการให้มีทักษะการทำธุรกิจที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
การเรียนในหลักสูตรนี้ ปีที่ 1 ให้ผู้เรียนมีความรู้ศึกษาทั่วไปที่เกี่ยวข้อง มีความรู้พื้นฐานทางด้านนวัตกรรมอาหารและธุรกิจและสามารถคัดเลือกผลิตภัณฑ์มาฝึกปฏิบัติดำเนินการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย ปีที่ 2 ให้ผู้เรียนสามารถผลิตอาหารและบริการอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และดำเนินธุรกิจอาหารแบบรายย่อย ปีที่ 3 ให้ผู้เรียนสามารถพัฒนานวัตกรรมอาหารและการบริการอาหาร จากการเรียนรู้บูรณาการกับภาคธุรกิจอาหารขนาดใหญ่ ปีที่ 4 ให้ผู้เรียนสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารและการบริการอาหาร ร่วมกับธุรกิจอาหาร ขนาดกลาง ขนาดย่อม ต่อยอดความรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจอาหารและการบริการอาหารต้นแบบของตนเองได้”
อย่างไรก็ตาม การจะตัดสินใจเลือกเรียนอะไร ประกอบอาชีพอะไร สิ่งสำคัญที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒคาดหวังต่อนิสิตผู้เปรียบเสมือน “ดาวดวงที่ 1” คือการเป็นผู้ประพฤติตนเป็นคนดี คนเก่ง มีจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อรับใช้สังคม มิใช่เพื่อความมั่งคั่งสร้างรายได้ในวิชาชีพเพียงสิ่งนี้สิ่งเดียว จึงจะได้ชื่อว่าเป็นปัญญาชนโดยแท้