กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ หรือ “ TICA พัฒนาทั่วโลก” ให้การสนับสนุนกิจกรรมโครงการที่มีนักศึกษาจากประเทศเวียดนาม มาเรียนหลักสูตรภาษาไทย ระยะสั้นกับคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ของเรา มาเป็นระยะเวลานาน กระทั่งปีนี้ครบรอบ 20 ปีของหลักสูตรนี้แล้ว Theme การจัดปีนี้คือ “ความยั่งยืนที่มีคุณค่า” มีนักศึกษาเวียดนามชายหญิง 40 คนจากมหาวิทยาลัย 4 แห่งในเวียดนามที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรภาษาไทยแบบเข้มข้น เป็นเวลา 1 เดือนที่ มศว
นี่คือตัวอย่างหนึ่งของกิจกรรมที่ทีมงาน TICA พัฒนาทั่วโลก ยกทีมเล็กๆ ไปร่วมกับทีมอาจารย์ที่มีอาจารย์สุภัคเป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมด้วยอาจารย์ภาณุพงศ์ อาจารย์นิธิอร เพื่อไปยังศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงโคนม สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี (ในพระบรมราชูปถัมภ์)
ที่ศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงโคนมฯ ราชบุรี ซึ่งจัดให้เป็นหนึ่งสถานที่ของการเรียนรู้ของนักศึกษาเวียดนาม มีคุณสุรศักดิ์ แซ่ลี้ หรือคุณกั้ง เจ้าของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เล่าให้น้องๆ นักศึกษาเวียดนามฟังว่า เป็นอาชีพที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้ คือการเลี้ยง “โคนม” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาชีพพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานให้เป็นอาชีพสร้างรายได้ ยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรทางราชบุรีนี้ เพื่อให้เกษตรกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง ครอบครัวและสามารถต่อยอดเป็นอาชีพเพื่อช่วยพัฒนาให้ประเทศชาติ พระองค์ท่านได้มีพระดำรัสว่า จะทำอย่างไรให้มีการประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมแบบรุ่นต่อรุ่นไม่สูญหายไป ดังนั้น คุณกั้งจึงตั้งใจที่จะสานต่ออาชีพที่พ่อให้ เมื่อเรียนจบวิทยาลัยเกษตรกรรมฯ และจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงได้ทำอาชีพเลี้ยงโคนมและเป็นอาชีพเดิมของครอบครัวคุณกั้งด้วย
ที่ฟาร์มโคนมแห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่ถ่ายละคร “มีเพียงรัก” ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มาแล้วด้วย โดยน้องๆ นักศึกษาเวียดนามมีความประทับใจแนวคิดของคุณกั้งที่บอกว่า นอกจาก ศูนย์แห่งนี้จะเป็นสถานที่ในการฝึกปฏิบัติงานของน้องๆ นักศึกษาไทยในหลายสถาบันแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกด้วยซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีนักเรียนจากวิทยาลัย
กัมปงสปือ จากกัมพูชา 2 คน มาฝึกงานที่นี่ 4 เดือน ปีนี้ก็จะส่งมาฝึกอีก 2 คน ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ยังเป็นห้องทดลองเล็กๆ สำหรับให้น้องๆ ได้ทดสอบความรู้หรือทำการวิจัย เป็นที่ลองผิดลองถูก เป็นที่ปรับปรุงพันธุ์วัว เช่น ให้น้องๆ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ทดลองใช้พืชสมุนไพร หญ้างวงช้างเป็นส่วนผสมอาหารอาหารวัว ซึ่งจากการทดลองทำให้ลดการติดเชื้อของเต้านมวัว เป็นต้น มีการทำการวิจัยด้วยพัฒนาด้วย ฟาร์มแห่งนี้จึงได้รับการรับรองคุณภาพจากกรมปศุสัตว์และส่งผลดีต่อราคาน้ำนมดิบของฟาร์มนี้ที่มีคุณภาพจึงมีราคาสูงกว่าฟาร์มอื่นๆ คือ 22 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ฟาร์มอื่นราคาน้ำนมดิบคือ 18 บาทต่อกิโลกรัม วัวฟาร์มนี้ให้น้ำนมเยอะอีกต่างหาก
นอกจากนี้ คุณกั้งยังให้ความรู้กับเกษตรกรอื่นๆ เพราะคุณกั้งบอกว่า ยิ่งให้ก็ยิ่งได้ การให้มีหลายแบบและสิ่งที่ได้รับอาจจะไม่ใช่ตัวเงินแต่เป็นสิ่งของเล็กน้อย เช่น พืชผักสวนครัว แต่เป็นสิ่งที่ภูมิใจ นอกจากนี้ คุณกั้งบอกว่า ตนเองได้รับอาชีพนี้มาจากพ่อในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงอยากจะ “ให้” คนอื่นบ้าง
เพียงที่หมายแห่งแรกก็ทำให้น้องๆ นักศึกษาเวียดนามทุกคนต่างได้เห็น “คุณค่า” ของอาชีพเกษตรกรที่เลี้ยงโคนมและทำให้น้องๆ สามารถตอบคำถาม 4 ข้อ ตามโจทย์ที่อาจารย์ให้ไว้ก่อนจะถึงศูนย์ฯ คือ (1) อาชีพที่พ่อให้ (2) ดูวัวดูนม (3) นม น้ม นม และ (4) นมสดหนองโพ นมโคแท้ๆ
ก่อนเดินทางไปที่หมายต่อไป ก็รับนมไปคนละกล่องติดมือเป็นของที่ระลึกและถ่ายรูปเพื่อบันทึกความทรงจำและความประทับใจ นี่คือการพานักศึกษาเวียดนามไปเรียนรู้ตามแนวคิดของกิจกรรมที่หมายแรกคือ“ความยั่งยืนที่มีคุณค่า” ส่วนว่า “คุณค่า” ของที่หมายที่ 2 คือที่ไหนและเกี่ยวกับอะไรติดตามได้ที่เพจของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ซึ่งให้การสนับสนุนโครงการฯ นี้มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง และเพจของหลักสูตรภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มศว