بازی انفجار سایت پیش بینی سایت شرط بندی
รุจ – ธีรยุทธ์ นิสิตครูปี 5 ได้รับการคัดเลือก จากสถานทูตสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมโครงการ (YSEALI) - PRswu

รุจ – ธีรยุทธ์ นิสิตครูปี 5 ได้รับการคัดเลือก จากสถานทูตสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมโครงการ (YSEALI)

หลายๆคนอาจจะคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า ‘อย่าให้กิจกรรมมาทำให้การเรียนเสีย’ แต่ไม่ใช่กับเขาคนนี้ เพราะนอกจากจะเป็นคนชอบทำกิจกรรม ออกค่ายสอนหนังสือและทำเวิร์กชอปต่างๆแล้ว ไม่นานมานี้เขายังติดทุนไปโครงการที่ต่างประเทศถึง 2 โครงการด้วยกัน INTERVIEW วันนี้ก็จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเขาคนนี้ เขาเป็นใคร โครงการที่ไปคือโครงการอะไรและได้ไปประเทศไหน เราไปทำความรู้จักเขาคนนี้พร้อมๆกันเลย

แนะนำตัว 
สวัสดีครับ ธีรยุทธ์ ดาวเรือง หรือรุจ  นิสิตชั้นปีที่ 5 สาขาวิชาภาษาอังกฤษ (กศ.บ.)  คณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

โครงการที่ไปคือโครงการอะไร
สำหรับทุนที่ได้มีสองโครงการครับ โครงการแรกมีชื่อโครงการว่า Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปี 2561 โดยให้ผู้นำรุ่นใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 18-35 ปี จากประเทศสมาชิกอาเซียนบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ ลาว สิงคโปร์ ไทย ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม มารวมตัวกันเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคมและใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา ภายใต้หัวข้อหลักๆ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การศึกษา และการมีส่วนร่วมของประชาสังคม หัวข้อที่ผมสนใจคือนโยบายการศึกษาไทยครับ ซึ่งก็ตรงกับหัวข้อการศึกษา และการมีส่วนร่วมของประชาสังคม (Civic Engagement) ซึ่งจะให้เราเนี่ยไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในอเมริกาที่เขากำหนดให้ 5 สัปดาห์ครับ ซึ่งหัวข้อของผมก็มีไปกัน 3 คน ก็จะมีผม เพื่อนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่   ส่วนโครงการที่สองจะคล้ายๆกันแต่อันนี้คือ ASEF Rectors’ Conference and Students’ Forum (ARC)  ครั้งที่ 7 เป็นโครงการที่สนับสนุนพื้นที่ให้นักศึกษาจากประเทศสมาชิกประเทศพันธมิตรอาเซียนทั้ง 51 แห่ง เป็นยุโรป 30 ประเทศ เช่น  ออสเตรีย ไซปรัส ฟินแลนด์ แล้วก็เอเชีย 21 ประเทศเช่น จีน บรูไน ไทย เกาหลี มารวมตัวกันอภิปรายประเด็นเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาระดับอุดมศึกษาและสร้างภูมิทัศน์ด้านการศึกษาในเอเชียและยุโรป จะเป็นโครงการระยะสั้นโดยจะวนไปตามประเทศต่างๆตามเจ้าภาพในแต่ละปีเหมือนปีนี้ที่ผมจะไปคือประเทศโรมาเนีย ซึ่งในปีนี้ก็มีคนสมัครไปมากกว่า 6,000 คนจากทั่วโลกแล้วก็คัดเหลือไม่เกิน 50 คน

  

ทั้ง 2 โครงการ มีความเกี่ยวข้องหรือแตกต่างกันยังไง
อย่างที่บอกไปตั้งแต่ตอนต้นว่าผมสนใจเรื่องประเด็นการศึกษา แต่ว่าหัวข้อที่ผมเขียนไปทั้งสองอันจะคล้ายๆกัันเลยครับ        ในส่วนของอันแรกที่ไปอเมริกาเนี่ย เราก็เขียนไปให้เขาเห็นว่าเรามีส่วนร่วมในสังคมยังไงแล้วก็เรามีมุมมองในการมีส่วนร่วมในภาคประชาชนในสังคมเป็นยังไง ก็คือผมมองว่าการศึกษาเนี่ยเป็นเรื่องของทุกคนในสังคมอยู่แล้วเวลาเราตั้งวงคุยกันหลายๆคนก็จะบอกว่าเฮ้ย เพราะการศึกษาไงคนถึงเป็นคนแบบนี้ ลองพัฒนาด้านการศึกษาดิ จะได้ไม่………… บลาๆๆ นึกออกป่ะ สมมุติว่าวันนึงมีข่าวคนปล้นกันข้างถนน ก็จะเฮ้ยการศึกษาไทยเป็นไงวะทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ผ่านไปอีกข่าวนึงข่าวเรื่องเศรษฐกิจ มีคนคอรัปชั่นก็กลับมาที่การศึกษาอีก ก็คือพอมองส่วนตัวเวลาเราไปฝึกสอนเป็นครู เราก็สอนนักเรียนในระดับนึงแล้วอ่ะ มันเลยทำให้ผมตั้งใจทำงานมากขึ้นนะเพราะสังคมให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆด้านการศึกษา รวมทั้งบุคคลในวงการวิชาชีพครูด้วย

ทำไมยังไงถึงได้ไปเข้าร่วมทั้ง 2 โครงการ
ทุนแรกผมตามเพจของสถานทูตอเมริกาเขาจะมีประกาศทุนของสถานทูตอยู่แล้ว ผมติดตามทุนนี้มาตั้งแต่ปี 1 แต่ว่ายังติดเรื่องเรียนในบางปีที่เราไม่สามารถลาเรียนนานๆได้ ต้องเข้าโรงเรียนไปสังเกตการสอน เลยรอจนโอกาสสุดท้ายก่อนที่ไม่มีโอกาสซึ่งก็คือปีนี้ครับ แต่ว่าอันที่ 2 เนี่ยมีอาจารย์ที่รู้จักส่งมาให้เพราะว่าเราก็เคยคุยกับอาจารย์ว่าเราสนใจเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการศึกษา อาจารย์เห็นพอดีก็เลยแนะนำโครงการนี้มาให้ครับ ทั้งสองโครงการนี้คัดเลือกโดยคณะกรรมการของโครงการเค้าเองเลยครับไม่ได้สมัครผ่านมหาวิทยาลัยครับ

  

เกณฑ์การคัดเลือกของทั้ง 2 โครงการ
คำถามในเบื้องต้นของอเมริกาเนี่ยจะแบ่งเป็น 4 Part ส่วนแรกก็คือให้แนะนำตัวแล้วก็เล่าถึงประสบการณ์ที่เราเคยทำงานมาทั้งหมด ผมก็ตอบไปประมาณว่าเป็นนิสิตฝึกสอนอยู่ ซึ่งก็มี passion ด้านการศึกษาที่อยากให้เด็กเยาวชนไทยเข้าถึงการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ ที่นี้นอกเหนือจากการสอน ผมก็ยังสนใจเกี่ยวกับเรื่องนโยบายการศึกษา ธุรกิจ และความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม ซึ่งจริงๆแล้ว passion เนี่ยมาจากการที่ผมเคยไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งผมก็ได้รู้จักกับ วีรบุรุษของประเทศเขาที่ชื่อว่า เนลสัน แมนเดลา ที่เป็นคนพลิกประเทศจากยุคที่มีการแบ่งสีผิวในประเทศ โดยใช้การศึกษาเป็นการแก้ปัญหา  หลังจากกลับมาผมก็รู้สึกว่าชอบแต่ว่าตอนนั้นที่ทำได้ก็คือไปสอนตามค่ายภาษาอังกฤษตามต่างจังหวัด เข้ามหาลัยวิทยาผมก็ยังคงทำอยู่นะ แต่ทีนี้ผมก็ได้รู้จักกับโครงการต่างๆในสถานทูตมากขึ้น ก็ไปช่วยพี่เขาทำงานเป็น สตาฟ อะไรอย่างงี้ ซึ่งพวกโปรเจกต์อย่างนี้โดยส่วนตัวก็ทำอยู่ในฝ่าย Content พูดง่ายๆว่าชอบงานวิชาการ ช่วยปรับเนื้อหาต่างๆที่เราจะไปสอนหรือมองภาพรวม วัตถุประสงค์กับเนื้อหาที่เราจะจัดในค่ายต่างๆมันเป็นยังไงบ้าง แล้วก็มีปีนึงที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปพบประธานาธิบดี บารัค โอบามา อันนี้ก็คือคำถามข้อแรกที่ให้เล่าประสบการณ์  ข้อสองเขาก็ถามว่าคิดว่าประสบการณ์ของเราจะนำมาใช้ในโครงการนี้ได้ยังไง ข้อสามทำไมถึงสนใจในธีมนี้ก็คือเรื่องของการศึกษา ข้อสุดท้ายก็คือประเด็นปัญหาเรื่องความสนใจ พอดีว่าผมฝึกสอนใช่ป่ะล่ะ มันก็มีเรื่องความท้าทายต่างๆที่เพื่อนๆและผมต้องเจอตอนระหว่างฝึกสอนผมก็เลยรวบรวมปัญหาตรงนั้น มาตั้งเป็นโครงการโครงการหนึ่งเรียกว่า  Kruise  ส่วนโครงการที่ 2 จริงๆมันคล้ายๆกันครับ แต่คำถามเยอะมากจนตาลายแต่สิ่งที่เพิ่มมา คือเรื่องของ The Sustainable Development Goals (SGDs)  มันคือการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ประกาศออกมาโดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งโครงการต่างๆที่เคยทำอาจมีส่วนที่เข้ากับเรื่องการศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) คำถามของเขาค่อนข้างจะวิชาการมากๆ ว่าเราศึกษามันละเอียดแค่ไหนเกี่ยวกับประเด็นที่เราสนใจ ผมก็เลยส่งไปว่าอยากจะให้คนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ยังไง ผมก็บอกไปถึงเรื่องการเรียนออนไลน์ต่างๆ และนโยบาย 4.0 ของประเทศไทย และแนบลิงค์นโยบายว่าเวลามันจะไปอยู่ในห้องเรียนที่เราสอนเนี่ยมันควรจะเป็นยังไงครับ แล้วมันก็ยากตรงที่ว่าประเทศที่ส่งมันเยอะมากครับเพราะสมัครไป 51 ประเทศกว่า 6,000 คน แต่ประเทศไทยก็ติดมา 2 คน

  

รู้สึกยังไงบ้างที่ได้รับคัดเลือก
ดีใจมากๆ ครับ เพราะผมเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว จะมีโควทส่วนตัวขำๆว่า ‘อย่าให้การเรียนมาทำให้กิจกรรมของเราเสีย’ มันช่วยกระตุ้นเราตลอดว่าถ้าจะทำกิจกรรมก็อย่าทิ้งเรื่องเรียนนะ กิจกรรมต่างๆ ที่เราทำบางที่มันก็ซัพพอร์ทการเรียนเราไปในตัวครับ ได้ประสบการณ์จริงๆมาตอบอาจารย์เวลาสอบก็มี  สุดท้ายที่ดีใจก็เพราะว่ารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมามันมีคนเห็นแล้วก็มีคนเชื่อในสิ่งที่เราทำ เราเลยรู้สึกว่าเรายังอยากนำความรู้กลับมาต่อยอดช่วยการศึกษาไทยได้อีกเยอะเลยครับ

ทำกิจกรรมเยอะแบบนี้ มีการแบ่งเวลายังไง
เรารู้สึกว่าเวลาเรามีค่ามากๆก็คือใช้เวลาในห้องเรียนก็คือเรียน ผมชอบตั้งคำถามกับอาจารย์มากๆ เรื่องกิจกรรมก็แล้วแต่โอกาสเลยครับแต่หลักๆก็จะเช็กว่าติดอะไรที่มหาวิทยาลัยมั้ย จะขาดหรือลาเกินกำหนดมั้ย อย่างช่วงที่เราว่างเสาร์ อาทิตย์ ไม่มีอะไรทำก็ไปหาพี่ๆที่รู้จักไปถามว่าช่วงนี้ทำอะไรอยู่ แล้วก็บางทีเขาก็แบบมาชวนเราบ้างอะไรแบบนี้อะครับ ชวนกันไปเรื่อยๆครับ หลักๆคือผมว่าเราต้องรู้หน้าที่ และรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ครับ You have to know what you are doing!

ตอนนี้เตรียมตัวเดินทางยังไงบ้าง
ตอนนี้ก็จัดกระเป๋าแล้วครับ แล้วก็มีอ่านเพิ่มเติมเรื่องของนโยบายการศึกษา และมีปรึกษาเพื่อนที่เรียนรัฐศาสตร์ที่เขาเรียนเกี่ยวกับนโยบายต่างๆว่าวิธีการทำนโยบายต่างๆมันเป็นยังไงบ้างแล้วก็ศึกษาด้วยตัวเองก่อนไปครับแล้วก็อีกอันนึงก็คือ SDGs ที่พูดไปตอนแรก อันนี้ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมเยอะอยู่เหมือนกันครับเพราะว่าเราก็อยากจะใช้เวลาทำให้เต็มที่เหมือนกัน เขาก็ให้โอกาสให้ทุนเรามาแล้วเราก็อยากให้มันเต็มที่อ่ะครับ หลักๆก็อ่านเตรียมความพร้อมในสิ่งที่เราอยากรู้เพิ่มเติมครับ

  

เล่าถึงการเรียนครูภาษาอังกฤษหน่อย
เรียนครูที่ มศว ผมรู้สึกว่าผมชอบนะเพราะว่าผมเจออาจารย์ที่เข้าถึงง่าย พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเราแล้วก็มีประสบการณ์ ความรู้ทางวิชาการสูงมาก อย่างผมเรียนครูภาษาอังกฤษอยู่สังกัดคณะมนุษยศาสตร์ ก็จะได้ตักตวงศาสตร์เกี่ยวกับทางด้านภาษาเนี่ยอย่างเต็มที่ ทั้งวิชาสายวรรณกรรม สายภาษาศาสตร์ แต่ว่าในเวลาเดียวกันเนี่ยเราก็ยังเรียนวิชาต่างๆเกี่ยวกับการเรียนการสอนเนี่ยกับอาจารย์ฝั่งคณะศึกษาศาสตร์กับโรงเรียนสาธิต มศว ผมรู้สึกว่าอันนี้เนี่ยเป็นความโดดเด่นของหลักสูตรครูของมหาวิทยาลัยเราครับที่อัดรวมความรู้ทั้งสองศาสตร์เนี่ยมาพัฒนาครูที่เข้มแข็งได้ครับ แล้วผมก็รู้สึกว่าครูที่คณะเขาเป็นคนที่เปิดกว้างทั้งด้านของการเรียน เนื่องจากเราเรียนด้านสายภาษาอะเนอะก็ต้องมีการแสดงความคิดเห็นอะไรเยอะแยะอาจารย์เขาก็เปิดรับความคิดเห็นในหลายๆเรื่องแทบจะทุกเรื่องเลยด้วยซ้ำ แล้วก็ในเรื่องของเพื่อนๆเขาก็ช่วยเหลือกันดีมากครับ ครูสาขาที่ผมเรียนรับปีละ 25 คนเองครับ บรรยากาศก็เลยอบอุ่นมากๆครับ ใครที่อยากเรียนครูภาษาอังกฤษก็มาที่ มศว ไม่ผิดหวังแน่นอน

ฝากถึงน้องๆที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย
เข้าใจนะครับว่าหลายๆคนก็อาจจะโดนครอบครัวถาม เพื่อนถาม คนรอบข้างหลายๆคนถามว่าอยากเรียนอะไรอยากเข้าอะไรนะครับ เรายังไม่จำเป็นต้องตอบก่อนก็ได้ว่าเราอยากเรียนอะไร ผมคิดว่าหลายคนมีคำตอบในใจแล้วหละ และก็อย่าเอาคำพูดคนอื่นมากดดันตัวเองครับ ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด อันที่สองผมว่าการตั้งเป้าหมายก็สำคัญนะครับ “Set your GOAL, know your objective” บางคนเขาก็ตั้งเป้าหมายไว้เลยแล้วก็ทำเลย 1 2 3 4 แล้วลองประเมินความสามารถของตนเองดูผ่านสนามสอบหรือข้อสอบต่างๆก็ได้ครับ ผมคิดว่าถ้าเรารู้ตัวเองว่าเราชอบอะไรก่อนเราก็จะได้เปรียบคนอื่นไปหนึ่งสเต็ปแล้วอะครับ

เรื่อง : มธุรส
ภาพ : ธีรยุทธ์

Share