เรียนวิศวกรรมโยธา จบไปต้องไปทำถนนอย่างเดียวหรือเปล่านะ INTERVIEW วันนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับตัวแทนนิสิต สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ได้ไปร่วมแข่งขันคอนกรีตมวลเบา ระดับอุดมศึกษา ครั้งที่ 13 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 30 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา และยังสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทประสิทธิภาพสูงกลับมาได้อีกด้วย การแข่งขันคอนกรีตมวลเบาคืออะไร แล้ววิศวกรรมโยธาจบไปต้องไปทำถนนอย่างเดียวหรือป่าว ไปติดตามกันเลย
แนะนำตัวเองหน่อย
แมกซ์ – ชาญธวัช เจริญธรรมโชติ ชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ครับ
การแข่งขันคอนกรีตมวลเบา คืออะไร
การแข่งขันจะแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. คอนกรีตประเภทประสิทธิภาพสูง 2. คอนกรีตประเภทกำลังอัดตามเป้าหมาย 3. คอนกรีตประเภทเบาที่สุด ก็เหมือนแข่งคอนกรีตทั่วไปครับ แต่เอาเรื่องมวลรวมที่จะเอาไปผสมอะครับ เป็นชนิดที่เบากว่าปกติ อย่างปกติก็จะผสมหินเข้าไปใช่ไหมครับ อันนี้ก็จะเป็นผสมพวกวัสดุธรรมชาติที่มันเบาๆแต่ให้กำลังสูง แต่ประสิทธิภาพก็ต้องให้มีประสิทธิภาพสูงพอที่จะใช้งานแทนวัสดุที่ใช้ปกติได้ด้วยครับ
ทำไมถึงได้เป็นตัวแทนไปแข่งขัน
อันนี้มันเป็นการแข่งขันของภาคโยธา ทั้ง 21 มหาวิทยาลัย ซึ่งทางภาควิศวกรรมโยธา จะไปแข่งทุกปีอยู่แล้ว แล้วก็มีรุ่นพี่มาชวนก็เลยลองไปดูครับ
บรรยากาศวันแข่งขันเป็นยังไงบ้าง
สนุกดีครับ เหมือนได้ไปเจอเพื่อนใหม่ๆก็มีตื่นเต้นบ้าง แต่ก็มีเครียดนิดหน่อยครับเพราะว่ามันเหมือนต้องทำให้ได้ตามเวลาที่เราตั้งเอาไว้ก็มีแบบกลัวว่าจะเกิดปัญหาหน้างานอะไรอย่างนี้
ใช้เวลาในการแข่งขันนานไหม แล้วกลุ่มของเราใช้อะไรเป็นส่วนผสมถึงได้รางวัลในครั้งนี้
มันจะแข่ง 2 วัน คือผสม1วันแล้วก็รอคอนกรีตเซ็ตตัวให้มันแข็งแล้วก็ประกาศผลอีก 1 วัน แล้วปีนี้เขาก็กำหนดโจทย์มาว่าต้องเป็นวัสดุธรรมชาติที่จะต้องเอาไปแข่งนะครับ ทางภาคก็เลยเลือกหินเพอร์ไลต์ไป เพราะว่าเป็นหินที่เกิดจากภูเขาไฟแล้วมันจะมีน้ำหนักเบาอ่ะครับ จริงๆก็ลองคิดไปหลายๆชนิดอ่ะครับจนมาเจออันนี้
เตรียมตัวก่อนไปแข่งยังไงบ้างแล้วมีการแบ่งเวลายังไง
เตรียมตัวประมาณ 2 เดือนครับ ก็มีการทดลองแล้วก็ซ้อมพยายามทำให้เหมือนอันจริง ก็คือซ้อมยังไงก็ไปแข่งแบบนั้น แล้วก็จะมีหนักแค่ช่วงตอนซ้อม ก็คือเหมือนเวลาพักจะหายไปช่วงตอนเย็นอะไรอย่างนี้ แต่มันก็ยังเป็นช่วงที่ยังไม่ใกล้สอบก็เลยยังไม่หนักอะไรมาก ช่วงก่อนแข่งก็จะต้องซ้อมช่วงตอนเย็นของทุกวันครับ
ความรู้สึกหลังจากประกาศผล
ก็ดีใจครับ ตอนทดลองที่มหาวิทยาลัยก็แบบปีนี้น่าจะได้รางวัลติดไม้ติดมือมาอยู่แล้ว พอผลประกาศก็รู้สึกดีใจไม่ผิดหวัง
วิศวกรรมโยธาจบไปต้องไปทำถนนอย่างเดียวรึป่าว
ก่อนผมเข้ามาเรียน ผมก็มีความคิดแบบนั้นนะครับ แต่พอเข้ามาก็รู้สึกว่าทุกอย่างมันก็มีโยธาแบบคอยคุมงานรถไฟฟ้า ตึก เกี่ยวกับการจราจร วิศวกรรมโยธาก็ต้องไปออกแบบอะไรอย่างนี้ด้วย
ฝากถึงน้องๆที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยหน่อย
เลือกคณะที่ตัวเองชอบแล้วก็ตั้งใจอ่านหนังสือครับ
เรื่อง : Mathuros & Keerati
ภาพ : Chanthawat