กิจกรรมสร้างนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial Design) ภายใต้โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ปีงบประมาณ 2561 เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักออกแบบรุ่นใหม่ให้ก้าวไกลกว่าเดิม กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรุ่นใหม่ๆ ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่แตกต่างได้ ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ได้ โดยจะมีส่วนช่วยพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้จับมือกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัด “กิจกรรมสร้างนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial Product Designer)” โดยมุ่งเน้นให้การพัฒนา ให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในแง่ของการวิเคราะห์หาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับหน้าที่ใช้สอยของผลิตภัณฑ์ (FUNCTION) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ (CONSUMER, USER) ข้อมูลเกี่ยวกับการตลาด (MARKET) แล้วนำมาสร้างสรรค์ ออกแบบ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่น และเป็นที่ต้องการของตลาดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หน่วยงาน องค์กรต่างๆ และพัฒนาไปสู่นักออกแบบมืออาชีพหรือเป็นผู้ประกอบการใหม่ทางด้านผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ได้มีนิสิต มศว เข้าร่วมกิจกรรมอีกทั้งผลงานการออกแบบยังได้รับคัดเลือกอีกด้วย ฉบับนี้ Swu Zeed จะทุกท่านไปรู้จักกับหนุ่มนักออกแบบหน้าใหม่คนนี้กันค่ะ
แนะนำตัวหน่อย
นายสื่อสาร วิไลนุช (เมล) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์
ชื่อผลงาน
ผลงานในครั้งนี้ชื่อ “ASTRO” ครับ เป็นเสื้อหนังมอเตอร์ไซค์ทำความเย็นสำหรับบิ๊กไบค์ครับ โดยเสื้อหนังจะมีการ์ดป้องกันตามจุดต่างๆเนื่องจากบิ๊กไบค์เป็นรถที่เร็วและแรงมาก เวลาเกิดอุบัติเหตุจึงหนักกว่าปกติจึงต้องมีการป้องกันอยู่แล้ว แต่จะแลกมากับความร้อนที่ร่างกายผลิตขึ้นจากรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ จึงได้นำระบบน้ำหล่อเย็น ที่ใช้เจลทำความเย็นร่วมกับน้ำ และใช้สายท่อซิลิโคนเดินตามเสื้อ คือด้านหน้าและแขนทั้งสองข้าง โดยมีแนวคิดคือรวมทุกอย่างไว้ที่เสื้อ ไม่มีสายห้อย ปุ่มควบคุมก็อยู่ที่หน้าอกของเสื้อ ซึ่งโดยปกติเมื่อร่างกายมีความร้อนกลไกธรรมชาติจะขับเหงื่อออกมาทำให้อุณหภูมิลดลง ดังนั้นน้ำเย็นที่วนอยู่ภายในจะแลกเปลี่ยนความร้อนกับร่างกายทำให้ อุณหภูมิลดลงและเหงื่อก็จะหยุดไหล
รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้
รางวัลชนะเลิศ ID Creator สาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ประจำปี 2561
แรงบันดาลในการสร้างผลงาน
ชุดนักบินอวกาศที่ใช้ระบบทำความเย็นในลักษณะนี้แต่จะมีความซับซ้อนมากกว่า ซึ่งชื่อ astro ก็มาจากคำว่า “astronaut” ที่แปลว่า นักบินอวกาศ
ขั้นตอนการออกแบบผลงานมีอะไรบ้าง
เริ่มจาก การออกแบบ ลวดลายเสื้อ และ จุดต่างๆที่เราจะมีไว้สำหรับอะไร เช่น ติดตัวสวิตซ์ควบคุมการทำงานของปั้มน้ำ, จุดเก็บถังทำความเย็นและปั้ม, ตำแหน่งการเดินสายของท่อ คำนวณความยาวสาย ระยะเวลาการทำงานของปั้ม เพื่อนำไปเลือกแบตเตอรี่ จากนั้นก็หาวัสดุที่เราต้องการ โดยในขั้นตอนการทำนั้นจะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนของเสื้อหนัง และ ส่วนอื่นเช่น ระบบควบคุมไฟ การทำถังความเย็น ซึ่งผมได้ทำงานร่วมกับช่างตัดเสื้อหนัง และช่างขึ้นรูปถัง เนื่องจากเป็นส่วนที่ผมทำเองไม่ได้ จากนั้นก็นำระบบควบคุมไฟฟ้า ปั้ม สวิตซ์ มารวมกัน จากนั้นก็ทดลองว่าใช้งานได้หรือไม่
อุปสรรคหรือปัญหาระหว่างออกแบบผลงาน แก้ไขปัญหานี้อย่างไร
อุปสรรคและปัญหาระหว่างออกแบบ ไม่ค่อยมีเนื่องจากเรา ออกแบบในจินตนาการ ความคิด เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ แต่ปัญหาจะมีระหว่างการดำเนินการ เพราะเราไม่ได้ทำคนเดียวต้องคุยกับหลายๆส่วน เช่น ช่างตัดเสื้อเขาก็ไม่เคยทำงานลักษณะนี้มาก่อน ผมก็ต้องใช้เวลาอธิบายคุยกันอยู่นานกว่าจะเข้าใจ ซึ่งระหว่างทำนั้นก็มีผิดพลาดบ้างเนื่องจาก ความเข้าใจที่ผิดพลาดบ้าง และอื่นๆอีกมากมายเช่น ถังน้ำรั่ว ท่อรั่วเนื่องจากโดยจักรเย็บผ้า ระบบไฟไม่เสถียร ซึ่งการแก้ปัญหาก็ต้องค่อยๆมองหาทางแก้ไป ใจเย็นกับงาน ไม่ยึดติดกับวิธีการมากจนเกินไป จะทำให้หาวิธีที่เหมาะสมในการแก้ได้ และการติดต่อพูดคุยก็สำคัญเพราะในงานๆ นึง เราต้องติดต่อกับผู้อื่น ต้องใจเย็น การใช้คำพูดก็ต้องคิดให้รอบครอบ ซึ่งทั้งหมดนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จเลยหากไม่มีผู้ช่วยศาสตราจาย์ดร.ภาคภูมิ ศรีร่มรื่น เป็นที่ปรึกษา อาจารย์ได้ให้คำปรึกษามาตั้งแต่เริ่มโครงการ และยังเป็นคนนำโอกาสนี้มาให้ผมได้เข้าร่วมโครงการ ต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่ได้สละเวลาให้คำปรึกษารวมถึงร่วมเดินทางไปในงานต่างๆที่โครงการจัดขึ้น อาจารย์ช่วยขัดเกลาหัวข้อที่จะทำ รวมถึงให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาต่างๆของผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนด้วยความเอาใจใส่มากครับ
“เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” มันส่งผลกับงานของเรามากมั้ย
ผมคิดว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นสำคัญ การที่จะคิดแก้ปัญหา หรือคิดอะไรใหม่ๆเราต้องใช้จินตนาการก่อน ส่วนความรู้เป็นสิ่งที่เราสร้างและหาได้ภายหลัง ถ้าเราไม่แม้แต่จะกล้าคิด มันก็คงไม่มีทางสำเร็จ
สมมติว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งที่ออกแบบมาดีอยู่แล้ว เราจะทำให้มัน (ขาย) ดีขึ้นได้อย่างไร
ผมคิดว่ามันอยู่ที่หลายๆ ส่วน อย่างโครงการนี้ที่ผมเข้าร่วม ไม่ได้สอนแค่แนวทางในการออกแบบ แต่ยังสอนในส่วนต่างๆที่สำคัญต่อผลิตภัณฑ์ของเรา เช่น การนำเสนอ, การออกแบบแบรนด์,การเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น ซึ่งถ้าเราคิดว่า ผลิตภัณฑ์เราดีจริง เราก็ต้องรู้วิธีที่จะนำเสนอจุดเด่นของเรา ต่อกลุ่มเป้าหมาย หรือ สร้างคุณค่าเพิ่มเติมให้กับมัน อาจเป็นเรื่องราว หรือ สิ่งอื่นๆ เช่นการวางแผน ทำการตลาด
คำว่า “ความสำเร็จ” ในชีวิตของคุณคือการที่ผลงานได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค เราคิดว่าเราจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร อะไรคือปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จนั้น
ผมคิดว่า ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าเรื่องใด หรือ ด้านไหน นั้นคือ การจดจ่อกับเป้าหมาย หรือการ focus กับเป้าหมาย ตัดสิ่งรบกวนที่ไม่สำคัญออกไป และเชื่อในความฝัน ความมุ่งมั่นของเรา เราจึงจะทำมันได้สำเร็จ ถ้าเราคิดว่ามันดี เราต้องทำพิสูจน์มันออกมาให้ได้ ในตอนแรกคนอื่นอาจไม่เชื่อ ไม่เข้าใจ แต่เมื่อเราทำได้ เราจะโน้มน้าวผู้อื่นได้ ซึ่งถ้าให้ยกตัวอย่างที่เห็นชัดก็คงจะเป็น สตีฟ จอบส์ ครับ
มีอะไรอยากฝากถึงคนที่กำลังจะเริ่มต้นทำอะไรเป็นของตัวเองมั้ย
ก็อยากให้กำลังใจทุกๆคนครับ ทุกคนมีความฝัน อยู่ที่ว่าใครจะกล้าทำ และเชื่อในมัน จดจ่ออยู่กับมันมากพอนานพอ โดยไม่หวั่นไหวไปกับคำพูดของผู้อื่น ผมรู้ว่าทุกคนสามารถเริ่มต้น ทำอะไรเป็นของตัวเองได้ทั้งนั้น และก็สามารถทำให้ผู้อื่นเชื่อได้ด้วยครับ