วันนี้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ของเรา ได้รับเกียรติจากผู้ผลิตสื่อหนังสือพิมพ์รายใหญ่อย่างมติชน มาเป็นพันธมิตรใหม่ช่วยขับเคลื่อนความก้าวหน้าทั้งวิชาชีพสื่อสังคมและภาคการศึกษา พัฒนาความรู้ ข้อเท็จจริงและประโยชน์ส่วนรวมไปด้วยกัน
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ของเราได้มีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มศว กับ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี ลงนาม พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.ปานสิริ พันธุ์สุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พินิจ เทพสาธร รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนากายภาพและสิ่งแวดล้อม รองศาสตราจารย์ ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ คณบดีคณะสังคมศาสาสตร์ พร้อมคณาจารย์และนิสิตคณะสังคมศาสตร์ ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยทางฝ่ายของบริษัท มติชน จำกัด นั้นได้รับเกียรติจากผู้บริหาร คือ คุณฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายวรศักดิ์ ประยูรศุข บรรณาธิการมติชนรายวัน นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการบริหารมติชนรายวัน นายอพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ รองผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน ร่วมลงนามซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของ มศว ที่มีความร่วมมือกับภาคเอกชนด้านสื่อสังคมมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับสูงเช่นนี้
โอกาสนี้ คุณฐากูร บุนปาน ได้กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง “สถานการณ์สังคมไทยปัจจุบัน” ใจความสำคัญว่า “ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและมหาศาลจากความเจริญของเทคโนโลยีและจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างชีวิตมนุษย์ ซึ่งมีปัจจัยอยู่ 2 อย่าง คือ ปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้หรือควบคุมได้น้อย โดยเฉพาะ ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แต่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และอยู่กับมันให้ได้ เราเปลี่ยนเทคโนโลยีไม่ได้แต่เราต้องปรับตัวตามมันให้ทัน สำคัญที่สุดคือเราต้องไม่กลัวมันเพราะมันเป็นสิ่งที่เรียนรู้กันได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวกลับคือการที่เราไม่พยายามคิดนอกกรอบ เพราะเราคุ้นชินกับอะไรเดิมๆ ส่วนปัจจัยที่สองคือ ปัจจัยที่เราสร้างขึ้นมาเองหรือเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ ยกตัวอย่างเช่นสถานการณ์การเลือกตั้งในขณะนี้ การแพ้ชนะเป็นอีกเรื่องหนึ่งแต่เรื่องสำคัญคือประเทศไทยเราจะเดินไปข้างหน้าต่อไปอย่างไร ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม ปัญหาใหญ่มากที่สุดของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้งแต่เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการมีประชาธิปไตยเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี ตรงนี้เอาเข้าจริงไม่มีใครรู้ได้ แต่อย่างน้อยประชาธิปไตยก็ทำให้คนมีความเสมอภาคกันทางการเมือง เราหวังกันว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้จะเป็นการระบายอุณหภูมิความกดดันที่สั่งสมในสังคม เพื่อหาทางออกให้กับอนาคตซึ่งค่อนข้างคดเคี้ยวและแปรปรวนขึ้นทุกวัน ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้เราใช้ทรัพยากร บุคคล เวลาและอื่นๆ มาลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ผมไม่แน่ใจว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยมากที่สุดในโลกหรือไม่ แต่คิดว่าน่าจะใกล้เคียง ดูได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ หรือ จีดีพี 4 ปีที่ผ่านมา โตขึ้นกว่า 2 ล้านล้านบาท ช่วงเวลาเดียวกัน มูลค่าของตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 4 ล้านล้านบาท ขณะที่บริษัทที่อยู่ใน SET 100 เข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 85 % หมายความว่าใน 100 บริษัท หรือ 100 เจ้าสัว เข้ามากินส่วนของชาวบ้านธรรมดากว่า 2 ล้านล้านบาท เงินไปงอกเฉพาะบางกลุ่ม ถึงเกิดอาการติดขัด ขัดข้อง เกิดเป็นคำว่า รวยกระจุก จนกระจาย ซึ่งไปโทษใครคงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องทางโครงสร้าง สิ่งที่ต้องช่วยกันคิดคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถแก้ไขโครงสร้างที่บิดเบี้ยวใหถูกต้อง ตรงไปตรงมาและโปร่งใส เรื่องนี้ไม่มีทางลัดและไม่มีอำนาจใดในโลกมาสั่งได้ว่าความเหลื่อมล้ำจะหมดไป คอมมิวนิสต์สุดโต่งเคยทำมาแล้วและพบว่าการทำให้ทุกคนจนเท่ากัน เป็นความล้มเหลวอย่างมหาศาล ในหลายๆ สังคม หรือที่เห็นชัดเจนคือสหรัฐอเมริกา เสรีนิยมสุดขีดก็ทำให้สังคมห่างกันไปทุกที เราต้องมาช่วยกันคิดว่าควรทำอย่างไรจึงจะลบหรือแก้ไขความเหลื่อมล้ำนี้ให้ได้”
นายฐากูรยังได้กล่าวต่อไปว่า “อย่างไรก็ตามก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ มติชน กับ มศว ได้ทำความร่วมมือกัน อาจจะเป็นเพียงความพยายามเล็กๆ เป็นก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่ง ในการเดินไปสู่การแก้ไขปัญหาบางอย่าง เราทั้งสองสถาบันองค์กรคงไม่มีพลังไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ทั้งหมด แต่หากความร่วมมือของเราจะเจริญงอกงามขึ้นมา แล้วทำให้คนอื่นเห็นได้ว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นและประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง ก็อาจมีความร่วมมือเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นในอีกหลายๆ ที่ ผมรู้สึกยินดีที่มหาวิทยาลัยและองค์ความรู้เดินไปพร้อมกับสังคม เชื่อว่าต่อไปสังคมจะตัดสินอะไรโดยใช้ฐานข้อมูล เหตุผลและสติปัญญามากกว่าอารมณ์ หวังว่าความร่วมมือของเราทั้งสององค์กร จะส่งเสริมการพัฒนาความรู้ การพัฒนาข้อมูล ข้อเท็จจริง สติปัญญาให้งอกงามขึ้นเพื่อประโยชน์ในระยะยาว”
ฟากฝั่งของสถาบันการอุดมศึกษาชั้นนำแนวหน้าอย่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒของเรา ก็กำลังทำหน้าที่ของการเป็น มหาวิทยาลัยรับใช้สังคม อย่างเข้มข้นเอาจริงโดยมีคณะสังคมศาสตร์เป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนเรื่องของกิจการเพื่อสังคม หรือ SE จนเห็นเป็นรูปธรรมในหลายบริบท หนึ่งในนั้นคือการจัดตั้งคณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคมเป็นที่สำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว มาวันนี้ก็ได้ไปชักชวนเพื่อนพันธมิตรข้ามศาสตร์ข้ามภาคีอย่างมติชนกรุ๊ปมาร่วมลงนาม ทำความร่วมมือกันทั้งทางการพัฒนาการศึกษาวิชาการ การแลกเปลี่ยนบุคลากร เรื่องของการบูรณาการศาสตร์การทำกิจการเพื่อสังคมส่วนรวม โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างคนที่ดี เก่ง มีคุณภาพ อย่างที่ท่านอธิการบดีกล่าว “มหาวิทยาลัยมีหน้าที่สร้าง คน และต้องเป็นคนที่มีความเป็นคนและมีความเป็นมนุษย์ด้วย มีคุณธรรมและมีจริยธรรม เพื่อออกไปรับใช้สังคม มหาวิทยาลัยก็ไม่ต่างจากองค์กรภาคเอกชนที่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคม สังคมจะดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่คนในสังคมเรา เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่เป็นการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ก็ต้องสอนให้คนให้นิสิตคิดอย่างนี้ เมื่อเขาออกไปทำงานจริงก็จะเป็นคนดีมีคุณภาพขององค์กรของสังคม เราไม่ได้เอาใจใส่ให้ความสำคัญเฉพาะด้าน Science จนหลงลือการพัฒนา Liberal Art หรือการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หลักสูตรใหม่ๆ มากมายที่เรามี 150 กว่าหลักสูตรครอบคลุม ตอบโจทย์ความเป็นไปของสังคมโลกและความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี”
อย่างไรก็ตาม คุณฐากูรก็แสดงความมั่นใจและความคาดหวังต่อความร่วมมือนี้ว่า “ความร่วมมือนี้อาจจะเป็นความร่วมมือเล็กๆ ก้าวหนึ่งที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาอะไรบางอย่างของสังคมนี้ได้ ความร่วมมือใดๆ ก็แล้วแต่ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ก็อาจจะทำให้เกิดความร่วมมืออื่นๆ ตามมา มันอาจจะไม่เห็นผลในชั่วข้ามคืน แต่ถ้าเราหนักแน่นมั่นคง ชัดเจนในเป้าหมาย เราก็จะได้เห็นผลสัมฤทธิ์
วันนี้ผมดีใจที่มหาวิทยาลัยไม่มี ‘รั้ว’ มหาวิทยาลัยเดินไปพร้อมกับสังคม สิ่งใดที่มติชนเราจะสนับสนุนให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งทางวิชาการ วิชาชีพ และจุดประกายสร้างองค์ความรู้ในสังคมได้ มีอะไรที่เราจะรับใช้ในวิชาชีพในวิชาการและเรื่องที่ทำร่วมกันเพื่อพัฒนาความรู้ สติปัญญาให้งอกงามด้านการศึกษา ก็อย่าเกรงใจที่จะใช้เรา”