โลกเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกสิ่งต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด อยู่อย่างรู้เท่าทัน อยู่อย่างชาญฉลาด มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็มาถึงจุดที่ต้องเร่งปรับตัว บางแห่งก็ปิดตัวลง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ของเราเองก็ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ การแสวงหาโอกาสใหม่ มิติใหม่เพื่อขยายความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่เคยมองข้ามหลายครั้งในปัจจุบันเราจึงได้เห็น “MOU” หรือ “ความร่วมมือทางวิชาการ” กับหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือล่าสุดระหว่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กับ บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด (UAE)
รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว
รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว กล่าวแก่ผู้บริหารบริษัท UAE และสักขีพยานสองฝ่ายว่า “เราจะเห็นว่าตอนนี้หลายอย่างเปลี่ยนไปมากในโลกสังคม มหาวิทยาลัยต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนด้วยในการร่วมมือเฉพาะด้าน ซึ่งเมื่อเราได้ประสบการณ์จากเอกชนมาก็จะมามีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษา เช่น การพัฒนาหลักสูตร การวิจัย โดยเฉพาะการที่นิสิตเราจะได้ฝึกการเรียนรู้จนสามารถเข้าไปทำงานกับภาคเอกชนได้อย่างมีคุณภาพ ตอนนั้นท่านก็จะได้พนักงานที่รู้และพร้อมทำงานได้จริง แทนที่ท่านจะต้องมาได้คนที่ต้องทดลองงาน ท่านก็จะได้คนที่พร้อมจะทำงานกับท่านได้เลย อย่างงานวิจัยนี่ในต่างประเทศเขาทำกันอย่างถ่องแท้ แต่ในไทยอาจจะมีน้อย ถ้าท่านมีโจทย์มาให้ทำวิจัย มหาวิทยาลัยเราก็มีนักวิจัยนักวิชาการที่ช่วยท่านได้ ทำสิ่งที่ท่านต้องการเห็นผลและเกิดในสิ่งที่ดีที่มาจากความร่วมมือของภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งผมก็เชื่อว่ารัฐบาลตอนนี้หรือชุดใหม่ก็ต้องการการทำงานแบบนี้ เพื่อช่วยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก แม้แต่ในเรื่องของการศึกษา มศว เราเองก็ปรับตัวเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก แม้เราจะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมายาวนานเป็นปีที่ 69 และมีรากฐานแข็งแกร่งด้านการผลิตครู แต่เราก็มีหลักสูตรที่รองรับกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ หลักสูตรที่รองรับกับความเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ การมีคณาจารย์ที่มีคุณภาพ มีหลักสูตรที่มีคุณภาพและเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม ที่ได้ทำงานเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือนี้จึงนำมาซึ่งประโยชน์ที่ดีแก่ทั้งสองฝ่ายอย่างเห็นผล”
ประธานกรรมการบริหาร คุณศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์
ประธานกรรมการบริหาร คุณศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์ กล่าวแก่ผู้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือฯ ว่า “UAE หรือ บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ของเราเปิดมาได้ 28 ปีแล้ว โดยกลุ่มนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ชีววิทยาและเคมี มุ่งเน้นงานบริการด้านสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของจรรยาบรรณทางวิชาการ โดยเรามีจุดเริ่มต้นมาจากการมีบริการด้านห้องแล็ป เราทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนนั้นนำระดับประเทศในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เช่น กรมควบคุมมลพิษเรื่องการพัฒนาการจัดการแหล่งน้ำทั่วประเทศ ทั้งน้ำจืดน้ำทะเล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้พัฒนาเป็นกรีนอินดัสตรี ให้อยู่กับประชาชนได้ ประเทศเรา รัฐบาลเองก็อยากให้โรงงานอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อกัน นอกจากนี้เรายังทำงานให้กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน สำหรับในภาคเอกชนนั้นเราทำโปรเจ็คขนาดใหญ่ ทำให้กับ SCG ปตท.ใหญ่ ปตท. จีซี กลุ่มด้านพลังงานเราก็ทำให้กลุ่มอุตสากรรมบ้านปู กลุ่มโรงไฟฟ้าราชบุรี กลุ่มของ SCG เน้นการพัฒนาปิโตเลี่ยม เราไม่ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนหรือรัฐเฉพาะแค่ในประเทศไทย เราเปิดสาขาที่เมียนมาร์ มีออฟฟิศที่ย่างกุ้งและลาวที่เวียงจันทน์ เราก็ได้ไปสร้างเสริมประสบการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งดิฉันมองว่าการทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ไม่มีขอบเขต เวลาที่เกิดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม น้อยมากที่จะไม่นำพาหรือส่งผ่านมายังประเทศเราหรือไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของคนเราทั่วทั้งทุกที่ อย่างเช่นอินโดนีเซีย ทุกปีก็จะมีปัญหาที่เกิดหมอกควันจากภูเขาไฟ ก็ยังส่งผลมาถึงสุขภาพของคนไทยเราตอนใต้ได้ เพราะฉะนั้นความร่วมมือไม่ว่าจะเป็นทั้งในหรือต่างประเทศก็จะทำให้เราทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อชาติเพื่อสังคมได้อย่างไม่มีขอบเขต เป็นเรื่องที่ทุกคนทุกชาติต้องมีสำนึกร่วมกันในการพัฒนาและป้องกัน
ความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เราต้องการพนักงานที่มีคุณภาพไปเติมเต็มให้กับการทำงานของบริษัท ไม่เฉพาะในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเรายังอยากได้รับความร่วมมือในด้านของ Specialists หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในทางวิชาการที่ทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมี เพราะปัจจุบันเราได้รับความร่วมมือกับคณาจารย์ที่มีองค์ความรู้จากหลายสถาบัน ความร่วมมือครั้งนี้ก็น่าจะทำให้เราได้มีส่วนสนับสนุนซึ่งกันและกันเพราะการนั่งอยู่ในภาคเอกชนก็ถือว่ามีส่วนในการช่วยพัฒนาประเทศชาติและสังคมของเราได้โดยเฉพาะในเรื่องที่เราถนัด มหาวิทยาลัยรู้และเชี่ยวชาญ”
มนุษย์เราเป็นทรัพยากรบุคคลที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม หรืออีกแง่หนึ่งทั้งคนและสิ่งแวดล้อม ล้วนมีผลกระทบซึ่งกันและกัน การมีส่วนร่วมของคนหรือประชาชนกับภาครัฐภาคเอกชนรวมไปถึงการมีส่วนร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นสิ่งที่คนเราและภาคอุตสาหกรรมต้องเรียนรู้จักการใช้ การมีส่วนร่วมและการมีจิตสำนึกที่ดีในการอยู่ร่วมกัน ความรู้ทางวิชาการ ความเชี่ยวชาญจากภาครัฐและภาคเอกชน เป็นเพียงเครื่องมือส่งผ่านให้เกิดการพัฒนาเพื่อสิ่งที่ดีและป้องกันสิ่งที่ไม่ดี ถึงวันนี้แล้วคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า สิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ขอบเขตและเป็นเรื่องที่เราจะละเลยไม่ได้เลยจริงๆ ขึ้นอยู่กับเราเองแล้วที่จะทำให้โลกสังคมของเราเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร