“เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม” เป็นหนึ่งในปัจจัย 5 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตามที่เราเคยท่องจำร่ำเรียนกันมา แต่ปัจจุบันเสื้อผ้ามีการออกแบบเป็น “แฟชั่น” มากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่ม “Fast Fashion” คือเสื้อผ้าตามกระแสนิยมแฟชั่นที่ใส่กันไม่กี่ครั้งก็เบื่อและอาจบริจาคหรือทิ้งไป อีกทั้งยังมีกระบวนการผลิตที่รวดเร็ว ใช้ต้นทุนต่ำทั้งวัตถุดิบและแรงงานเพื่อให้ได้เสื้อผ้าที่ราคาไม่แพง แต่จะเป็นเสื้อผ้าที่คุ่มค่ากับการใช้ทรัพยากรในการผลิตหรือไม่ เกิดเป็นขยะล้นโลกหรือจะแปรเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกไหม แม้ว่าเร็วๆ นี้ สหภาพยุโรป (อียู-EU) กำลังเข้าสู่กระบวนการ “ร่างกฎหมาย Ecodesign Regulation” ที่จะครอบคลุมสินค้าผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเงื่อนไขฉลากพลังงาน เบื้องต้นน่าจะมีการนำมาตรการทั่วไปมาใช้ 3 ด้าน ได้แก่ ความทนทาน ความสามารถในการรีไซเคิล ส่วนประกอบที่รีไซเคิลหลังการบริโภค ซึ่งตรงกันข้ากับหลักการของ Fast Fashion ที่มีข้อดีคือราคาไม่แพงที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้และการให้ความสำคัญกับแฟชั่นซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาล ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่ก็ต้องหาจุดสมดุลเรื่องนี้และเป็นความท้าทายวงการแฟชั่นทุกวันนี้
ดร.ณิรชญา จังติยานนท์ อาจารย์สาขาวิชาการออกแบบทัศนศิลป์ เอกการออกแบบอฟั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า “การผลิตแบบมาไวไปไวของสินค้าแฟชั่นที่มีทั้งด้านดีและด้านลบ ดังนั้นการมีสินค้า Fast Fashion มีแล้วไม่ได้ผิดอะไร หรือผู้เลือกใช้สินค้าประเภทนี้ก็ไม่ได้ผิดอะไร แค่พวกเราผู้ใช้/ผู้ผลิต/นักออกแบบ/ผู้บริโภคทุกกลุ่ม (Target Group) อาจทำความเข้าใจไหม้ไปพร้อมๆ กับด้านลบ ในปัจจุบันเราจะพบการผลิตสินค้า Fast Fashion ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่จะตามมาได้หรือการให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุ (Raw Material) ในระยะเริ่มต้น เช่น จากเศษขยะ / สิ่งของเหลือใช้ ก็เป็นแนวโน้มโลกแฟชั่นอย่างมากในอนาคต การใช้หลักการคิดการออกแบบรูปแบบหมุนเวียน (Circular Design Methodology) เช่น การสร้างระยะเวลาการใช้สินค้าที่ยาวนานขึ้นต่อสินค้าแต่ละชนิด / การดึงชุมชนเข้ามาเป็นผู้ผลิตและสร้างการตระหนักรู้ต่อสินค้าที่จะผลิต จะมีผลลัพธ์ทั้งด้านดีและด้านลบอย่างไรบ้าง และการสร้างการรับรู้ใหม่แก่ผู้ซื้ออย่างสร้างสรรค์ (Creative Consumption) บนพื้นฐานความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากผู้ผลิตผู้บริโภคยุคใหม่ต้องเข้าใจความเป็นจริงของสินค้าและเลือกซื้อสินค้าอย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น Fast Fashion หรือสินค้าอื่นๆ หากรู้จักใช้อย่างรู้คุณค่า ทรัพยากรที่สูญเสียไปก็จะไม่สูญเปล่าและไม่มีใครเป็นผู้ทำร้ายโลกอีกต่อไป Fast Fashion กับ Sustainability จะไปด้วยกันได้อย่างไร คำถามนี้น่าคิดเพราะกระแสการบริโภคนี้เองกลับบ่มเพาะให้เกิดแฟชั่นที่เรียกว่า “Fast Fashion” ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นตัวการสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อมระดับต้นๆ ของโลกและมีผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์อย่างมหาศาล เหตุใดคนถึงรักและนิยมใน Fast Fashion ทั้งที่ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง โดยที่เรายังสนุกกับการแต่งตัวได้เหมือนเดิม เมื่อกระบวนการผลิตเสื้อผ้า 1 ชิ้น ใช้ทรัพยากรมากกว่าที่เห็น ในแง่ของการใช้ทรัพยากร
อุตสาหกรรม Fast Fashion เป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำในกระบวนการผลิตและทำความสะอาดสินค้ามากที่สุดในโลก เนื่องจากเสื้อผ้านั้นทำมาจากเส้นใยฝ้ายเป็นหลักและกว่าจะผลิตใยฝ้ายออกมาได้ 1 กิโลกรัมนั้น ต้องใช้น้ำถึงหมื่นลิตร สีที่ใช้ย้อมเสื้อผ้าส่วนใหญ่แล้วยังคงสังเคราะห์ขึ้นมาจากสารเคมีซึ่งทำให้เกิดน้ำเสีย นอกจากนี้ธุรกิจบางส่วนยังเสาะหาวัตถุดิบที่ต้นทุนถูกกว่าเดิมมาผลิตเอากำไร จึงทำให้เสื้อผ้าในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแต่เส้นใยฝ้ายเท่านั้น ยังผสมพลาสติกสังเคราะห์ขนาดเล็ก ที่เรียกว่า “ไมโครไฟเบอร์” ออกมาเป็นชนิดเสื้อผ้าอีกรูปแบบหนึ่งนั่นก็คือ โพลีเอสเตอร์ โดยกระบวนการผลิตเสื้อผ้าชนิดนี้ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปริมาณขยะที่ได้จากเสื้อผ้าเหล่านี้ในแต่ละปีนั้นมากต่อมาก แล้วเมื่อเสื้อผ้าไม่สามารถย่อยสลายได้ ทางเลือกเดียวที่จะกำจัดขยะที่เกิดจากเสื้อผ้าคือการฝังกลบดินซึ่งทิ้งสารตกค้างจำนวนมากไว้ในดิน ส่งผลให้ดินเสียหายและเสื่อมคุณภาพได้ อุตสาหกรรมเสื้อผ้า Fast Fashion ก็ทำให้เกิดปัญหาสิทธิมนุษยชนระดับโลก แม้ว่าการผลิตเสื้อผ้าได้เติมเต็มตลาดแรงงานให้คนได้ลืมตาอ้าปาก แต่ก็มี แรงงานที่ถูกกดขี่ ค่าแรงต่ำและความเป็นอยู่ไม่เอื้อต่อชีวิตแรงงานได้ด้วย ในอดีต เสื้อผ้าที่ผู้คนต่างมองว่าทันสมัยและตัดเย็บดี ต่างออกแบบและมีราคาสูง จึงทำให้คนที่มีกำลังซื้อส่วนใหญ่จะเป็นคนชนชั้นสูงและฐานะร่ำรวยมากกว่า การมาของ Fast Fashion ได้สั่นสะเทือนวงการแฟชั่นดั้งเดิม ด้วยแนวคิดที่ว่าทำอย่างไรให้คนสามารถสวมใส่เสื้อผ้าที่บ่งบอกถึงรสนิยมดี ทันสมัยและตัดเย็บดีในราคาที่จับต้องได้ คนส่วนใหญ่ของสังคมจึงเข้าถึงการใส่เสื้อผ้าหลากหลายสไตล์ มีอิสระ สนุกสนานไปกับการแต่งตัว ต้องมนต์เสน่ห์ของ Fast Fashion ยิ่งไปกว่านั้น แบรนด์ส่วนใหญ่ที่ผลิตเสื้อผ้าแบบ Fast Fashion เน้นย้ำการตลาดด้วยการวางจำหน่ายคอลเล็คชั่นใหม่ทุกๆ สัปดาห์ หรือ 52 รอบต่อปี ซึ่งแตกต่างจากแฟชั่นดั้งเดิมจะออกเสื้อผ้าอย่างมากที่สุด 2 รอบต่อปีเท่านั้น ก็คือรอบ Spring/Summer และ Fall/Winter ตอนนี้มี่พอจะเห็นตัวอย่างของแฟชั่นแบบ Fast Fashion ที่เห็นได้ชัดถึงความสมดุลของการเป็นผู้ผลิตแฟชั่นแนวนี้กับการรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็คือแบรนด์ H&M ที่ออกมาเคลื่อนไหวทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน โดยเป็นแบรนด์แรกๆ ที่เปลี่ยนโมเดลการผลิตเสื้อผ้าจากเน้นความรวดเร็วอย่าง Fast Fashion มาปรับใช้โมเดล Circular Fashion System หรือระบบแฟชั่นแบบหมุนเวียน เริ่มต้นจากการเปลี่ยนวัตถุดิบที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ อีกทั้งออกแบบเสื้อผ้าโดยคิดถึงอายุการใช้งานยาวนานเป็นปัจจัยหลัก ก่อนที่จะมาปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยลดการใช้สารเคมีและน้ำเป็นลำดับถัดไป นอกจากนี้ H&M ยังใช้แผนการรีไซเคิล ลดขยะจากเสื้อผ้า โดยส่งเสริมให้ลูกค้านำเสื้อผ้ามารีไซเคิลเพื่อแลกกับข้อเสนอบัตรกำนัล แบรนด์ H&M ยังมีเป้าหมายจะใช้เฉพาะวัสดุที่มาจากแหล่งที่ยั่งยืน 100% ภายในปี 2030 ในฝั่งของทรัพยากรมนุษย์”
อย่างไรก็ตามแม้ว่าความยั่งยืน จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ แต่ความท้าทายในแง่ของผู้บริโภคเรื่องของ การตลาด ที่จูงใจให้ผู้บริโภคให้เลือกซื้อสินค้าก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย เพราะสิ่งนี้จะเป็นการสร้างความตระหนักรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ควบคู่ไปกับสิ่งที่แบรนด์ต้องการจะเป็นได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Fast Fashion