بازی انفجار سایت پیش بینی سایت شرط بندی
มศว เสวนา “ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย รู้เท่าทันและป้องกันภัยอาชญากรรมไซเบอร์” - PRswu

มศว เสวนา “ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย รู้เท่าทันและป้องกันภัยอาชญากรรมไซเบอร์”

ส่วนกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดการเสวนาในหัวข้อ “ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย รู้เท่าทันและป้องกันภัยอาชญากรรมไซเบอร์” เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ณ หอดนตรีและการแสดงอโศกมนตรี1 (หอประชุมใหญ่) ศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ ชั้น 4 อาคารนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มศว ประสานมิตร  โดยมีวิทยากรได้แก่ คุณนิติธร แก้วโต หรือ ทนายเจมส์ / คุณเดียร์ ลิลลี่ แม็คกร๊าซ (ศิษย์เก่า มศว นักแสดง พิธีกรและผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ช่อง One 31) ได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาทิตยา ทรัพย์สินวิวัฒน์ (อ.น้ำนุ่น) วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ดำเนินการเสวนาดังกล่าว

คุณนิติธร แก้วโต หรือ ทนายเจมส์ ผู้มีชื่อเสียงจนได้รับการขนานนามว่าเป็นทนายความเซเลบ เพราะได้รับความไว้วางใจจากดารานักแสดงเป็นทนายความให้ในคดีต่างๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ได้รับการคุ้มครองของผู้บริโภคต่างๆ เช่น คดีที่ทนายเจมส์พาเหยื่อกว่า 70 ราย ร้อง ปคบ.ตรวจสอบคลินิกเสริมความงามชื่อดังย่านสุทธิสาร ใช้หมอเถื่อนศัลยกรรมให้ลูกค้า ในการเสวนาดังกล่าว ทนายเจมส์ กล่าวว่า “การเสพสื่อควรใช้ ‘สติ’อย่างมี ‘สไตล์’และให้ ‘สตรอง’ ประชาชนเราควรสร้างความตระหนักในการใช้สื่อดิจิทัลและเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลไทยแลนด์อย่างมีคุณภาพ อีกประการหนึ่งคือการรู้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเสพสื่อการใช้สื่อที่จะมีผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่นเพราะกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญและไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราควรมีความรู้กฎหมายพื้นฐานบ้างเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเอง โดยเฉพาะ
พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีเรื่องต้องห้าม เสี่ยงผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีสาระสำคัญที่หลายคนควรพึงระวังใน พ.ร.บ.ว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับ 2 สำหรับชาวเน็ตหรือคนทำงานออนไลน์ควรรู้ไว้เพื่อการใช้สื่อออนไลน์อย่างถูกต้องและถูกกฎหมาย  มีสาระสำคัญจำง่ายๆ ดังนี้

  1. การฝากร้านใน Facebook, IG ถือเป็นสแปม ปรับ 200,000 บาท
  2. ส่ง SMS โฆษณา โดยไม่รับความยินยอม ให้ผู้รับสามารถปฏิเสธข้อมูลนั้นได้ ไม่เช่นนั้นถือเป็นสแปม ปรับ 200,000 บาท
  3. ส่ง Email ขายของ ถือเป็นสแปม ปรับ 200,000 บาท
  4. กด Like ได้ไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ยกเว้นการกดไลค์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน เสี่ยงเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 หรือมีความผิดร่วม
  5. กด Share ถือเป็นการเผยแพร่ หากข้อมูลที่แชร์มีผลกระทบต่อผู้อื่น อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ โดยเฉพาะที่กระทบต่อบุคคลที่ 3
    6. พบข้อมูลผิดกฎหมายอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของเรา แต่ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าของคอมพิวเตอร์กระทำเอง สามารถแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ หากแจ้งแล้วลบข้อมูลออกเจ้าของก็จะไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่น ความเห็นในเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมไปถึงเฟซบุ๊ก ที่ให้แสดงความคิดเห็น หากพบว่าการแสดงความเห็นผิดกฎหมาย เมื่อแจ้งไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อลบได้ทันที เจ้าของระบบเว็บไซต์จะไม่มีความผิด
    7.สำหรับ แอดมินเพจ ที่เปิดให้มีการแสดงความเห็น เมื่อพบข้อความที่ผิด พ.ร.บ.คอมพ์ฯ เมื่อลบออกจากพื้นที่ที่ตนดูแลแล้ว จะถือเป็นผู้พ้นผิด
    8. ไม่โพสต์สิ่งลามกอนาจาร ที่ทำให้เกิดการเผยแพร่สู่ประชาชนได้
    9. การโพสเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน ต้องปิดบังใบหน้า ยกเว้นเมื่อเป็นการเชิดชู ชื่นชม อย่างให้เกียรติ
    10. การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต ต้องไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียเชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ญาติสามารถฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย
    11. การโพสต์ด่าว่าผู้อื่น มีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ไม่มีข้อมูลจริงหรือถูกตัดต่อ ผู้ถูกกล่าวหา เอาผิดผู้โพสต์ได้ และมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
    12. ไม่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้ใด ไม่ว่าข้อความ เพลง รูปภาพ หรือวิดีโอ
    13. ส่งรูปภาพแชร์ของผู้อื่น เช่น สวัสดี อวยพร ไม่ผิด ถ้าไม่เอาภาพไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หารายได้”


ด้านคุณลิลลี่ แม็คกร๊าซ ดารานักแสดง พิธีกรและผู้ประกาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ONE 31 และศิษย์เก่า มศว เป็นหนึ่งในคนแวดวงงานบันเทิงที่มีชื่อเสียง ให้ความสำคัญและเอาใจใส่ในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ด้วยความระมัดระวังมาโดยตลอด กล่าวว่า “ทุกวันนี้เราหลีกเลี่ยงการใช้สื่อไม่ได้เพราะสื่อโซเชี่ยลมีอิทธิพลและเป็นความจำเป็นหรือเป็นปัจจัยหนึ่งในชีวิตเราตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนเลยก็ว่าได้ หากเรารู้ไม่เท่าทันก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของพวกกลโกง คนโกงหรือมิจฉาชีพหรือขาดประสบการณ์ข้อมูลความรู้ในการใช้สื่อไปในทางที่ผิดโดยไม่เจตนาอย่างที่ปรากฏข่าวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งที่ถูกหลอกลวง ทั้งที่เราใช้สื่อไปในทางที่ผิดเอง สำหรับน้องๆ นักเรียนหรือนิสิตนักศึกษาก็คิดว่าความสำคัญของสถาบันครอบครัวที่เป็นปราการสำคัญที่สุดในการคัดกรอง สอดส่องดูแล ตลอดจนปลูกฝังภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศในยุคดิจิทัล รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ให้ความรู้ในการใช้สื่อดิจิทัล ผ่านนิทรรศการและการจัดเสวนาในหัวข้อต่างๆ เช่นจริยธรรมและมารยาทในการใช้สื่อโซเชียล  การใช้ธุรกรรมออนไลน์ (Internet Banking)  การเลี้ยงลูกอย่างสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัล  การทำธุรกิจบนสื่อออนไลน์  พฤติกรรมเสี่ยงผิดกฎหมาย  การพนันออนไลน์และการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตามไม่เฉพาะดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงและเป็นบุคคลสาธารณะ”

Share