กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” ทรงย้ำ “นักประดิษฐ์ สร้างผลงานเพื่อประชาชน สังคมและประเทศชาติ” โดยงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2566 จัดยิ่งใหญ่โชว์ 110 ผลงานสิ่งประดิษฐ์รางวัลนานาชาติ 470 นวัตกรรมจากนานาประเทศ ชี้ชัดไทยเป็นชาติที่มี DNA ของนักนวัตกรรม เก่งวิทย์-ศิลป์ พร้อมรับโลกเปลี่ยน-คนปรับให้ทันยุคสมัย
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเป็นประธานเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ (Thailand Inventor’s Day 2023)” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 24 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการวิจัยและการประดิษฐ์ ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและองค์กรด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นนานาชาติ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” และพระราชทานเกียรติบัตรให้แก่ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ รางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 165 รางวัล เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณแก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ที่ได้ค้นคว้าวิจัยและคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและการประกวดแข่งขัน รวมถึงจัดอบรม การเสวนาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนางานวิจัยในระดับชาติ โดยมี ศ.พิเศษ ดร.เอนก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงารการวิจัยแห่งชาติ ผู้บริหารวช. และผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เฝ้ารับเสด็จและนำเสด็จทอดพระเนตรบูธแสดงงานวิจัยต่างๆ และทรงมีพระดำรัสเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566” ความสำคัญว่า
“การวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างให้เศรษฐกิจของชาติมีความเข้มแข้ง พึ่งพาตนเองได้ มีความพร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลก เศรษฐกิจของประเทศดีย่อมจะส่งผลดีในด้านการประกอบการและรายได้ของภาคประชาชน สร้างเสริมให้ฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชนดียิ่งขึ้น งานวันนักประดิษฐ์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทำให้เราเห็นว่าประเทศไทยมีผู้มีความรู้ความสามารถในทางประดิษฐ์คิดค้นเป็นจำนวนมาก หากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมก็จะมีกำลังใจให้คิดค้นสิ่งที่เป็นคุณแก่สังคม ชาติ บ้านเมือง การประดิษฐ์คิดค้นควรมีวัตถุประสงค์ในทางสร้างสรรค์ ในทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหา ช่วยพัฒนาสังคม ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงในทุกด้าน อันจะเกิดผลเป็นความเจริญอย่างยั่งยืน งานวันนักประดิษฐ์ยังเป็นแรงจูงใจและเป็นแนวทางแก่เยาวชน ตลอดจนผู้นิยมชมชอบการประดิษฐ์ให้เกิดความคิดที่จะผลิตผลงานที่มีประโยชน์ เป็นการใช้สติปัญญาและความรู้ความสามารถในทางที่เหมาะสม”
ภายในงานมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าทรงเป็น “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และนิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลจากนานาชาติ นิทรรศการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สร้างมูลค่า นิทรรศการพื้นที่เรียนรู้กับนวัตกรรมโดรน ขบวนการผู้พิทักษ์ป่าไม้ ขุมทรัพย์ป่าชายเลน นิทรรศการ U2T นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่นวัตกรรม นิทรรศการนักประดิษฐ์วิจิตรศิลป์ นิทรรศการเล็กๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์จากหน่วยงานเครือข่าย 6 กลุ่มเรื่อง ประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ด้านการเกษตรเพิ่มมูลค่า ด้านอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้านนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ด้านนวัตกรรมสังคมผู้สูงวัยและผู้พิการ และด้านนวัตกรรมสีเขียว จุดเริ่มต้นมหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ จาก 24 ประเทศ อาทิ แคนาดา จีน โครเอเชีย ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ : โครงการ Bangkok International Intellectual Property, Invention and Technology Exposition (IPITEx) การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน โครงการ Thailand New Gen Inventors Awards 2023 : I-New Gen Award 2023
ซึ่งงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 นี้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) นับเป็นสถาบันการอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศแห่งหนึ่งที่ได้มีโอกาสนำผลงานวิจัยของคณาจารย์และนิสิต ร่วมจัดแสดงและได้รับรางวัลด้านงานวิจัยอย่างภาคภูมิ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว ร่วมแสดงความยินดีแก่คณาจารย์และนิสิตที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566”
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดังต่อไปนี้
1.รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น
1.1 รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลงานเรื่อง “ชุดตรวจสอบ TBDR D Dect: Gold Amp Test Kit” (TBDR D Dect: Gold Amp Kit) โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย แก้วพินิจ / ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตุรงค์ ขำดี / รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล / นายสมศักดิ์ เหรียญทอง
1.2 รางวัลระดับดี สาขาสังคมวิทยา ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมพลาสมาสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างสรรค์วิถีใหม่” (Plasma Innovation Creates Value for Creative Community Products for The New Normal Lifestyle) โดย ดร.เสวต อินทรศิริ / ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงแข บุตรกูล / ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ อินทะยศ / ดร.พสุ เรืองปัญญาโรจน์ / ดร.อนุชา รักสันติ / ดร.สิทธิพงศ์ วงศ์ไชยสุวรรณ / ดร.วศิน วงศ์วิไล / รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรวรรณ บุญญวรรณ
1.3 รางวัลประกาศเกียรติคุณ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ผลงานเรื่อง “ชุดตรวจเชื้อนิวคาสเซิลในสัตว์ปีกแบบ DNA Spin Disk” (Newcastle Disease (NDV) DNA Spin Disk) โดย ศาสตราจารย์ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ/ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูณิศรา ลิ้มนนทกุล / นายวิศรุต ศรีพุ่มไข่ / นางสาวภัทรลักษณ์ ปัถมัง / นายนรบดี ราญรอน / ดร.สุพัตรา อารีกิจ /ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัตวแพทย์หญิงนารีรัตน์ วิเศษกุล / ดร.สินทวี คู่เจริญถาวร / รองศาสตราจารย์ ดร.เกษร จันทร์ศิริ / รองศาสตราจารย์ ดร.ทายาท ศรียาภัย / ดร.พรพรรณ จรัลสิงห์ /ดร.เกศปุญยวีศ์ บุญรอดดิษฐ์ /รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล
2.รางวัลผลงานวิจัย
2.1 รางวัลวิจัยระดับดี สาขาการศึกษา จำนวน 3 ผลงาน ดังนี้
2.1.1 ผลงานวิจัยเรื่อง “การประเมินและการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพและสุขภาวะครอบครัวกลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง : การพัฒนา โมเดลเชิงสาเหตุทางวัฒนธรรมของพฤติกรรมสุขภาพและโปรแกรมจิตวิทยาเชิงบวกและความรอบรู้ด้านสุขภาพ” (Assessing and Improving Health Literacy and Wellbeing in Thai families at risk of NCDs: The Development of a Culturally Relevant Health Behavior Model and a Positive Psychology and Health Literacy Program) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อังศินันท์ อินทรกำแหง / ดร.พิชชาดา ประสิทธิโชค
รองศาสตราจารย์ ดร.อังศินันท์ อินทรกำแหง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มศว ในฐานะนักวิจัยผู้เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตรรางวัลการวิจัยแห่งชาติจากกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กล่าวว่า “การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อความเข้าใจสถานการณ์และเงื่อนไขทางสุขภาพของครอบครัวกลุ่มเสี่ยง พัฒนารูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุด้านสังคมวัฒนธรรมและจิตวิทยาเชิงบวกที่มีต่อสุขภาวะครอบครัวโดยส่งผ่านความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ เปรียบเทียบรูปแบบเชิงสาเหตุของความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพที่มีต่อสุขภาวะครอบครัวของคู่สมรสที่เสี่ยงโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง ระหว่างคู่สมรสเพศหญิงกับเพศชาย และระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบท ผลการวิจัยระยะที่ 1 พบว่า การเจ็บป่วยส่วนใหญ่มาจากการรับประทานอาหาร โรคชรา สภาพแวดล้อมในชุมชนที่ไม่ดี ไม่เข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพและไม่ออกกำลังกายและรูปแบบการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวด้วยการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยเข้าถึงสื่อออนไลน์ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและการบอกต่อจากบุคคลใกล้ชิด พร้อมรู้จักแยกแยะข้อมูลก่อนตัดสินใจ มีการป้องกันด้วยการดูแลในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน การตรวจสุขภาพ ยึดหลักศาสนา มีความเชื่อมั่นในตนเองและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อครอบครัว เป็นต้น”
2.1.2 ผลงานวิจัยเรื่อง “พฤติกรรมการติดพนันออนไลน์ : ปัจจัยเชิงสาเหตุ กระบวนการ ผลกระทบทางพฤติกรรมศาสตร์ และแนวทางการช่วยเหลือผู้เรียน ที่ติดพนันออนไลน์ สำหรับครูแนะแนวในสถานศึกษา” (Online Gambling Addicted Behavior: Causes, Process, Behavioral Impacts and Guideline Students Addicting Online Gambling for Teachers) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิไลลักษณ์ ลังกา / รองศาสตราจารย์ ดร.พัชราภรณ์ ศรีสวัสดิ์ / ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นรสิรา พึ่งโพธิ์สภ
2.1.3 ผลงานวิจัยเรื่อง “กลยุทธ์การพัฒนาพฤติกรรมเชิงนวัตกรรมสาหรับนิสิตนักศึกษา ผ่านการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้การส่งเสริมการยืดหยุ่น ทางความคิดเป็นฐาน” (Strategies for Developing the Innovative Behavior of University Students Through the Cognitive Flexibility- Based Learning Experiences) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยยุทธ กลีบบัว
นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยของคณาจารย์จากหลายคณะของ มศว ที่ได้รับรางวัลระดับระดับชาติและนานาชาติ รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ระดับดี รางวัลผลงานการประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ ปี 2566 อาทิ ผลงานการวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย แก้วพินิจ จากสำนักนวัตกรรมการเรียนรู้ มศว เรื่อง TBDR D Test : Gold Amp Test Kit นวัตกรรมการตรวจการดื้อยาวัณโรค ที่มีผลงานวิจัยได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ชุดตรวจวัณโรคและวัณโรคดื้อยา ที่มีการพัฒนางานวิจัยต่อเนื่องจนได้รับรางวัลมากมาย นับเป็นสุดยอดนวัตกรรมเพื่อการวินิจฉัยโรควัณโรคที่เหมาะสมกับการตรวจยีนวัณโรคเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ สามารถถ่ายทอดนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ด้วยแล้วกับบริษัท ไบโอแอดแวนเทค โดยเจ้าของผลงานวิจัยนี้กล่าวว่านอกจากงานวิจัยชุดตรวจวัณโรคแล้วเขากำลังจะมีงานวิจัยใหม่เรื่องเกี่ยวกับภาวะโรคอัลไซเมอร์ที่จะช่วยชะลอการเป็นอัลไซเมอร์ได้หรือลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
ผลงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ อดีตอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มศว ก็นับเป็นนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จจากการมีผลงานวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ ที่ได้รับรางวัลระดับโลก ระดับชาติและนานาชาติมานับครั้งไม่ถ้วนและได้รับทุนวิจัยจาก วช. ฯลฯ ซึ่งได้นำมาจัดแสดงให้ความรู้แก่คนทั่วไปภายในงานนี้ โดยได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2566 ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาทิ
- ชุดตรวจยีนดื้อยาคาร์บาพิเนม ชนิดดีเอ็นเอแบบแถบ
“เชื้อจุลชีพดื้อยา เป็นปัญหาทางการแพทย์ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้ยารักษา ปัจจุบันพบว่าอุบัติการณ์ดื้อยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการดื้อยาในกลุ่มคาร์บาพิเนม โดยมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียสามารถผลิตจเอนไซม์คาร์บาพิเนม มักจะทำโดยวิธีการตรวจหาเชื้อจากตัวอย่างสิ่งที่ส่งตรวจที่เป็นเสมหะหรือจากเลือด ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อดื้อยาแพร่กระจายไปมากแล้ว ดังนั้น การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัย CRE Strip Test ในการตรวจแบคทีเรียดื้อยาคาร์บาพิเนม ที่สามารถตรวจได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว จึงเกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วย โรงพยาบาลและประเทศชาติ” รองศาสตราจารย์ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ กล่าว - ชุดตรวจเชื้อก่อโรคซิฟิลิสแบบสี
“โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ซึ่งเพิ่มจาก 2.29 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2562 เป็น 11.91 ต่อประชากรแสนคนในปี 2561 ซึ่งถือว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดเมื่อเปรียบเทียบกับโรคอื่น ปัจจุบันวิธีมาตรฐานที่ใช้ตรวจโรคซิฟิลิส ได้แก่ การทดสอบทาง Serology Test ซึ่งเป็นวิธีที่อาจทำให้เกิดผลบวกปลอมได้จากผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อและหายจากโรคนี้แล้ว ดังนั้นชุดทดสอบ Syphilis HNB Colorimetric Test จึงเป็นชุดทดสอบที่มีความเร็วและความจำเพาะสูงเนื่องจากเป็นการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคได้โดยตรง” รองศาสตราจารย์ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ กล่าว - ชุดตรวจเชื้อไวรัสพีอีคีวี/พีอีซี ชนิดดีเอ็นเอแบบแถบคู่
“Duo PED / PCV DNA Dipstick test นี้เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อตรวจสอบสารพันธุกรรมของเชื้อพีอีคีวีไวรัสที่พบการระบาดเป็นอย่างมากในสุกร ก่อให้เกิดการสูญเสียอย่างหนักแก่ภาคอุตสาหกรรมสุกร ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ดังนั้น ชุดทดสอบจึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตรวจสอบไวรัสทั้ง 2 สายพันธุ์ในเวลาเดียวกัน โดยตรวจสอบแถบสีที่ปรากฏบนแผ่นทดสอบแบบแถบเพียง 1 แผ่นทดสอบ ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและตรวจสอบการระบาดของเชื้อไวรัสทั้ง 2 สายพันธุ์ภายในฟาร์ม พร้อมลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการขนส่งสุกรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน” รองศาสตราจารย์ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ กล่าว - ชุดตรวจเชื้อไวรัสนิวคลาสเซิล ชนิดดีเอ็นเอแบบแถบ
“โรคนิวคาสเซิล (Newcastle disease) เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล หรือ เอ็นดีวี ก่อให้เกิดความเสียหายทางอุตสาหกรรมสัตว์ปีก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมฟาร์มเลี้ยงไก่อย่างมากมาย โดยโรคนิวคาสเซิลเป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เชื้อไวรัสมีผลกระทบต่อผลผลิตไข่ในไก่ไข่และทำให้เกิดไก่ตายเนื่องจากอาการของการติดเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล บางอาการมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อชนิดอื่น จึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจที่แม่นยำ ดังนั้น จึงมีการพัฒนาชุดตรวจเชื้อไวรัสนิวคาสเซิลชนิดดีเอ็นเอแบบแถบที่มีความไวและความจำเพาะ เพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบเชื้อนิวคาสเซิลในสัตว์ปีกในฟาร์ม” รองศาสตราจารย์ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ กล่าว - ชุดตรวจดีเอ็นเอของเชื้อลิสทีเรีย โมโนไซโตจีเนสที่ก่อโรคลิสเทริโอซิส
“Listerria monocytogenes ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) ติดต่อผ่านทางอาหารทำให้เกิดโรคลิสเทริโอซิส โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลืิอด พบว่าอัตราป่วยจนทำให้เสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 20-30 พบวิธีระบาดของเชื้อนี้เกิดได้หลายทาง เช่น จากแม่สู่ลูก จากสัตว์สู่คน และจากโรงพยาบาล ดังนั้นจึงพัฒนาเป็นชุดตรวจวินิจฉัยโรคลิสเทริโอซิส ที่มีความจำเพาะและสามารถตรวจวินิจฉัยได้ทันทีในระหว่างการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ” รองศาสตราจารย์ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ กล่าว - ชุดตรวจเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ชนิดดีเอ็นเอแบบแถบ
“โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการคล้ายไข้แดงกี่ ลักษณะอาการคล้ายไข้เลือดออก เช่น มีไข้สูงผิวหนังจะมีสีแดงเพิ่มขึ้นด้วยลักษณะอาการเหล่านี้ จึงทำให้การวินิจฉัยอาจคลาดเคลื่อนไปเป็นโรคไข้เลือดออกได้ ดังนั้นจึงมีการพัฒนา Chikungunya DNA Strip Test ชุดตรวจเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ชนิดดีเอ็นเอแบบแถบ ที่มีความไวและความจำเพาะ โดยใช้หลักการของไบโอเซนเซอร์มาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา เพื่อให้เกิดผลการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แม่นยำ ลดระยะเวลาในการตรวจสอบเชื้อและควบคุมการระบาดของเชื้อในระยะแรกเริ่ม ไม่ให้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ” รองศาสตราจารย์ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ กล่าว
โดยผลงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.โกสุม จันทร์ศิริ นั้นมีมากมายและมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการสาธารณสุขและการแพทย์ตลอดจนวงการอุตสาหกรรมภาคเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติ นานาชาติและระดับโลกมาแล้วด้วย ได้นำมาแสดงพร้อมเจ้าของผลงานวิจัย เพื่อให้ความรู้และแลกเปลี่ยนกับกลุ่มนักวิจัยจากหน่วยงานองค์กรต่างๆ ตลอดจนภาคเครือข่ายและผู้สนใจทั่วไป
ขณะที่ผลงานวิจัยของคณาจารย์ มศว หลายท่านก็ล้วนได้รับรางวัลระดับชาติ นานาชาติและระดับโลกเช่นกัน อีกทั้งยังได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี สาขาสังคมวิทยา จากวันนักประดิษฐ์ประจำปีนี้ อาทิ ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมพลาสม่า สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างสรรค์วิถีใหม่” ผลงานวิจัยของ ดร.เสวต อินทรศิริ / ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงแข บุตรกุล (วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว) / ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ อินทะยศ / ดร.พสุ เรืองปัญญาโรจน์ / ดร.อนุชา รักสันติ / ดร.สิทธิพงศ์ วงศ์ไชยสุวรรณ /ดร.วศิน วงศ์วิไล / รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรวรรณ บุญญวรรณ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงแข บุตรกุล หนึ่งในทีมนักวิจัย กล่าวว่า ” งานวิจัยนี้มาจากโจทย์จากชุมชนย้อมห้อม จังหวัดแพร่ ว่าเขาทำการย้อมผ้าด้วยสีจากต้นห้อมแล้วสีตก สีไม่เข้มสด สีหม่น แบบ/ลวดลายไม่ทันสมัย ขาดอัตลักษณ์ เราจึงใช้องค์ความรู้พลาสมาวิเคราะห์คุณสมบัติวัสดุ สร้างเครื่องพลาส SMEs เครือข่ายวิจัยพลาสม่เทคโนโลยี พัฒนาวัสดุ ระดับอุตสาหกรรม การใช้งานผ้าเส้นใย ฝ้าย ไหม มาปรับปรุงคุณภาพวัสดุ เพื่อให้เป็นนวัตกรรมพลาสมากันสีห้อมตก เพราะเส้นใยธรรมชาติเป็นเซลลูโลสที่มี OH มาก เมื่ออยู่ในน้ำหมู่ไฮดรอกซิลและคาร์บอกซิลจะแตกตัว เกิดประจุลบขึ้นที่ผิวผ้า ขณะที่มวลสีห้อม/สีธรรมชาติที่ได้จากต้นห้อมให้สีครามเฉดสีน้ำเงินอินดิโก้ก็มีประจุลบเช่นกัน จึงเกิดการผลักกัน เป็นเหตุให้สีย้อมติดยาก มวลสีหลุดขณะซักล้าง เรียกว่าสีตก เราจึงใช้เทคโนโลยีหรือกระบวน 1. การอาบพลาสมาก่อนย้อม โดยการปรับสภาพพื้นผิวเส้นใยให้ชอบน้ำและเพิ่มหมู่ฟังก์ชั่นช่วยการยึดติดของมวลสีกับเส้นใย 2. การอาบพลาสมาหลังย้อม คือเพิ่มสภาพการไม่ชอบน้ำ ป้องกันการทำลายการยึดติดของมวลสีกับเส้นใยจากความชื้นและแสงยูวีและเพิ่มคุณสมบัติป้องกันเชื้อโรค กระบวนการนี้ทำให้การย้อมห้อมได้สีน้ำห้อมเข้มสด สีไม่ตก ไม่ซีดจางลง ซึ่งงานวิจัยนี้ช่วยให้ผลิตภัณฑ์จากการย้อมสีห้อมไม่ตก สีเข้มขึ้น สามารถสร้างมูลค่าให้กับสินค้าได้ ทำให้แก้ปัญหาสินค้าคุณภาพต่ำสู่การเพิ่มมูลค่าตามที่ตลาดต้องการ โดยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม การแก้ปัญหาผ่านงานวิจัย”
งานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.พรสวรรค์ ธนวงศ์ จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ. แพรวพัชร ปัจฉิมสวัสดิ์ เรื่อง “ชุดอุปกรณ์ดูแลอนามัยช่องปากสำหรับผู้ป่วยพิเศษ” เป็นผลงานประดิษฐ์ชิ้นเอกของสองทันตแพทย์ผู้ห่วงใยสุขอนามัยช่องปากของผู้ป่วยพิเศษที่ไม่สามารถดูแลได้นี้ที่คิดค้นขึ้นจากแรงบันดาลใจว่าสังคมโลกปัจจุบันได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเมื่อผู้สูงอายุป่วยและไม่สามารถดูแลสุขอนามัยในช่องปากด้วยตัวเองได้ อุปกรณ์ชุด “ปลากัดและผองเพื่อน” จึงเป็นตัวช่วยเพื่อผู้สูงวัยและผู้ป่วยพิเศษ “ปลากัด เป็นอุปกรณ์ช่วยอ้าปาก กัด ค้ำฟันล่างฟันบนเพื่อให้ผู้ดูแลช่วยทำความสะอาดปากและฟัน กำจัดคราบจุลินทรีย์ โดยใช้แปรงสีฟันแปรงซอกฟัน ไหมขัดฟันพร้อมมีช่องเสียบใส่สายดูดเสมหะเพื่อดูดน้ำลายในช่องปาก ป้องกันการสำลัก นอกจากปลากัดแล้วก็มีผองเพื่อนเป็นอุปกรณ์อื่นๆ คือ กระจกส่องในช่องปาก ที่กวาดลิ้นเพื่อทำความสะอาดลิ้น แท่งถูซิลิโคนช่วยทำความสะอาดเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากโดยเฉพาะกระพุ้งแก้ม ซึ่งมีความหลากหลายที่ใช้ซ้ำได้และมีความปลอดภัย” รองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.พรสวรรค์ ธนวงศ์ กล่าว
รวมทั้งผลงานของนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มศว ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ iNewGen ปีนี้ ได้รางวัลชนะเลิศในสาขาการเกษตร โดยได้รับรางวัล 2 gold prize และ 2 silver prize สำหรับงานบ่มเพาะสิ่งประดิษฐ์ สายอุดมศึกษา ได้ระดับ 4 ดาว 1 รางวัล และ 3 ดาว 2 รางวัล และผลงานของนิสิตวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว ที่ได้รับ 2 รางวัลเหรียญทอง 8 เหรียญเงิน จาก 10 ผลงานที่เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์โดยการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับจากการเรียนหลักสูตรสาขาอัญมณีและเครื่องประดับ ดังนี้
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และ รางวัลเหรียญทอง “เครื่องประดับที่ออกแบบจากหมากรุกไทยด้วยทฤษฎี Deconstruction” ออกแบบโดย 1. นางสาวกัญญาวีร์ แก้ววงษา 2. นายจีรณัฏฐ์ จรูญโรจน์ 3. นางสาวเอลียาห์ ขันทะ
รางวัล Popular vote และ รางวัลเหรียญทอง “โคมยี่เป็งล้านนา งามตาอัตลักษณ์ไทย” ออกแบบโดย 1. นางสาวกัญทร ทัศนะเทพ 2. นางสาวสวิชญา สมนิมิต 3. นางสาวเอลียาห์ ขันทะ
รางวัลเหรียญเงิน ทั้งหมด 8 เหรียญ ได้แก่
1. คอลเล็กชั่นเครื่องประดับ “พยัคฆามนตราเวียงโกศัย” ออกแบบโดย นางสาวกัญญารัตน์ รัตนปรีชาชัย นางสาวปิยะพร คงกัน นายมรกต เนียมหอม
2. คอลเล็กชั่นเครื่องประดับ “ขบวนแพร่เดือน 4 ถิ่นช่อแฮเมืองศรี” ออกแบบโดย นางสาวปิยะพร คงกัน นายมรกต เนียมหอม นางสาวกัญญารัตน์ รัตนปรีชาชัย
3. คอลเล็กชั่นเครื่องประดับ “พยัคฆ์มายาสิ้นอนัตตา” ออกแบบโดย นางสาวปิยะพร คงกัน นางสาวกัญญารัตน์ รัตนปรีชาชัย นายมรกต เนียมหอม
4. คอลเล็กชั่นเครื่องประดับ “ตรวนมาลัย” ออกแบบโดย นางสาวณัฐสุษมา พงศ์เขมนันท์ นางสาวปุณยวีร์ เริ่มหิรัญวงศ์ นางสาวรชยา ไกยสุทธิ
5. คอลเล็กชั่นเครื่องประดับ “นวัตกรรมการออกแบบเครื่องประดับจากอัตลักษณ์ฆ้องวงใหญ่ที่ผสมผสาน แนวคิดมินิมอลลิสต์ แนวคิดดีคอนสตรักชัน และคิเนติก” ออกแบบโดย นางสาวปุณยวีร์ เริ่มหิรัญวงศ์
6. คอลเล็กชั่นเครื่องประดับ “การออกแบบเครื่องประดับนวัตกรรมจากทฤษฎีดีคอนสตรักชันและโอริกามิ ผสานอัตลักษณ์ระนาดเอก” ออกแบบโดย นางสาวปุณยวีร์ เริ่มหิรัญวงศ์ นางสาวณัฐสุษมา พงศ์เขมนันท์
7. คอลเล็กชั่นเครื่องประดับ “นวัตกรรมการออกแบบโดยใช้ทฤษฏีเดอะบาร์นัมเอฟเฟคเพื่อสร้างสรรค์เครื่องประดับอิงความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ไทยและไพ่ยิปซี” ออกแบบโดยนายจีรณัฏฐ์ จรูญโรจน์ นางสาวกัญญาวีร์ แก้ววงษา นางสาวเอลียาห์ ขันทะ
8. คอลเล็กชั่นเครื่องประดับ “นวัตกรรมการออกแบบเครื่องประดับจากทฤษฎี “จิตวิเคราะห์” ที่ผสมผสานจากอัตลักษณ์จากตุงใยแมงมุมและลายพุ่มข้าวบิณฑ์” ออกแบบโดย นางสาวสุชาวดี เทียนทอง นางสาวชาลินี เด่นศักดิ์ตระกูล นางสาวพัทธนันท์ นรสารคณิศร์
คนส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าชาติไทยเรามีนวัตกรรมมาอย่างยาวนาน คำว่า นวัตกรรม เข้ามาใช้ในสังคมไทยได้หลายปีแล้ว มาจากคำว่า Innovation หมายถึงของใหม่ วิธีการใหม่ คนไทยนั้นเก่งทั้งวิทย์ เก่งทั้งศิลป์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 – 5 พระองค์ท่านทรงรอบรู้เรื่องวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และขณะเดียวกันพระองค์ท่านทรงมีความรู้ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปประเทศของเราให้เป็นชาตินวัตกรรมได้ จะเห็นได้ว่าในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 สยามประเทศของเรามีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมากมาย จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีแต่ของเก่า ไม่ใช่ชาติที่ใหม่ไม่เป็น เรามีนวัตกรรมของเราเองอยู่แล้วตั้งแต่ในอดีต แต่เราถูกครอบด้วยแนวคิดตะวันตก ทำให้เราหลงลืมไปว่าเราเองมีของดี เราเป็นชาติที่มี DNA ของนักนวัตกรรมอยู่แล้ว นวัตกรรมเราได้มาจากการไปศึกษาของเก่านำมาปรับปรุงปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย เราเป็นชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่เราเก็บของเดิมไว้ด้วย คนไทยเราเป็นคนเก่งที่รับเก่ากับใหม่ไปด้วยกันได้ อาทิ ผลงาน “การผลิตกระจกเกรียบตามอย่างโบราณ เพื่อพัฒนาสู่การบูรณะและต่อยอดงานศิลปกรรมไทย” ของนายรัชพล เต๋จ๊ะยา โรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถึงการประดิษฐ์คิดค้นกระจกเกรียบ เผยว่า “พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งชื่นชมว่าเป็นงานที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่กับภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าก่อให้เกิดการอนุรักษ์ งานกระจกเกรียบถือเป็นงานศิลปกรรมแห่งยุครัตนโกสินทร์ที่เกือบจะสูญหายไปแล้ว แต่วันนี้ได้มาเห็นกระจกเกรียบที่ใช้ความรู้สมัยใหม่ทำให้ยินดีว่ากระจกเกรียบอย่างโบราณฟื้นคืน อันจะเป็นประโยชน์ต่องานอนุรักษ์และเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการบูรณะราชภัณฑ์และโบราณสถานต่างๆ ” ซึ่งสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับรางวัลและนำมาแสดงภายในงานนี้ก็ล้วนพัฒนาต่อยอดมาจากสิ่งเก่าสร้างเป็นนวัตกรรม มีีทั้งด้านนวัตกรรมสังคมผู้สูงวัยและผู้พิการและด้านนวัตกรรมสีเขียว รวมทั้งมหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ จำนวน 470 ผลงาน จาก 24 ประเทศ อาทิ แคนาดา จีน โครเอเชีย ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์โปแลนด์ โรมาเนีย รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ซูดาน ไต้หวัน อังกฤษ เวียดนาม อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น ตลอดจนการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ : โครงการ Bangkok International Intellectual Property, Invention and Technology Exposition (IPITEx) การประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน โครงการ Thailand New Gen Inventors Awards 2023 : I-New Gen Award 2023 มาร่วมจัดแสดงจำนวน 446 ผลงาน ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาจำนวน 245 ผลงาน ระดับอาชีวศึกษา จำนวน 103 ผลงาน ระดับอุดมศึกษาจำนวน 98 ผลงาน อีกทั้งการเสวนาและฝึกอบรมอาชีพให้กับประชาชน นอกจากนี้ภายในงานยังจัดให้มีตลาดสินค้าและนวัตกรรมอย่างครบครันมาให้ได้เลือกชมและเลือกซื้ออีกด้วย
งาน “วันนักประดิษฐ์ 2566” (Thailand Inventors’ Day 2023) ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานับเป็นมหกรรมสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ให้ความรู้อย่างมากและสร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่ สร้างสังคมสร้างประเทศชาติให้เข้มแข็งยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม”