بازی انفجار سایت پیش بینی سایت شرط بندی
อว. แนะมหาวิทยาลัย - สถานประกอบการ จัดหลักสูตรแนว Demand Driven Education ปรับตัวทันโลกตามความต้องการจริง - PRswu

อว. แนะมหาวิทยาลัย – สถานประกอบการ จัดหลักสูตรแนว Demand Driven Education ปรับตัวทันโลกตามความต้องการจริง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับสถานประกอบการในการจัดหลักสูตรตามแนวทาง Demand Driven Education (CWIE+EEC Model Type A) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องประชุมเทียนกิ่ง ชั้น 3 โรงแรมเฮลท์แลนด์
รีสอร์ท แอนด์ สปา พัทยา จังหวัดชลบุรี
โอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.อรสา ภาววิมล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดงาน ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “การศึกษาของบ้านเมืองเราเติบโตมาอย่างไร้ทิศทาง นับจากที่ปรับ – จัดการศึกษาสมัยใหม่ตามแนวทางของมิชชันนารีเมื่อศตวรรษก่อน โดยดึงการศึกษาออกจาก ‘บ้าน’ และ ‘วัด’ มาสู่ ‘โรงเรียน’ ต่อมาก็ตั้ง ‘กระทรวงธรรมการ’ ขึ้นมาดูแล จนได้เปลี่ยนเป็น ‘กระทรวงศึกษาธิการ’ ในที่สุด เมื่อโลกเคลื่อนเปลี่ยนสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและความก้าวหน้า เปลี่ยนไปสู่ ‘เศรษฐกิจฐานความรู้ – นวัตกรรม – เทคโนโลยี’ สถาบันการศึกษาและการศึกษาโลกจึงเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง เฉกเช่นเดียวกับหลายธุรกิจอุตสาหกรรมที่ไม่รู้จักปรับตัวจนต้องทยอยล้มหายจากไป การศึกษาของบ้านเมืองวันนี้ก็กำลังเจอสภาพเดียวกัน แต่หนักกว่าก็ตรงที่ การปรับตัวของระบบการศึกษาในการจัดการรื้อสร้างการศึกษาสู่ทิศทางใหม่ จึงต้อง ‘เลือกพื้นที่ – เลือกระบบ – เลือกเครือข่าย’ การจัดการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (อีอีซี) ผ่านการระดมความคิดและพัฒนาขึ้นเป็นพื้นที่ปฏิบัติการเริ่มแรก โดยดึงเอาบทเรียนจากหลากหลายแนวคิดและแนวปฏิบัติที่มีทิศทางการจัดการศึกษา ซึ่งตอบสนองความต้องการ (Demand Side) มาแทนการจัดการศึกษาที่เคยชินในสถานศึกษาแบบผลิตคนออกสู่ตลาดงาน (Supply Side) โดยไม่ดูความต้องการของตลาด ส่งผลให้มีผู้ว่างงานจำนวนมาก แต่ต่อไปนี้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องได้ทำงานทันท่วงที ไม่ควรมีภาวะว่างงานเพราะการจัดการศึกษาในลักษณะดังกล่าวใช้เครือข่ายที่คัดสรรมาจากระดับมหาวิทยาลัย อาชีวะ มัธยมและประถม ซึ่งเป็นต้นน้ำของปฏิบัติการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษฯ โดยเริ่มที่ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งกำหนดตามนโยบายรัฐฯ จากนั้นศึกษาความต้องการในเชิงปริมาณและคุณลักษณะของบุคลากรที่ผู้ประกอบการต้องการในการทำงานยุคใหม่ทั้งระบบ จากนั้นก็นำเข้าสู่การรื้อสร้างเพื่อจัดทำการศึกษาที่ตรงตามความต้องการ (Demand) จัดหลักสูตรตามแนวทาง Demand Driven Education”
กฎของ Demand มีอยู่ว่า จะต้องขับเคลื่อน ปรับสร้างการศึกษาและการพัฒนาคนให้เป็นไปตามความต้องการของงานหรือการพัฒนา ซึ่งมีการศึกษาและสำรวจร่วมกับกลุ่มเศรษฐกิจสังคมที่สร้างความร่วมมือกันไว้ และสรุปว่า 1) กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมและทิศทางการจัดการศึกษาที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยความร่วมมือของสถานศึกษาและสถานประกอบการ 2) สร้างความร่วมมือและความเข้าใจระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ รวมถึงหน่วยงานที่อยู่แวดล้อมของการจัดการศึกษาและบุคลากรทั้งระบบ 3) สถานศึกษาและสถานประกอบการต้องร่วมคัดเลือกบุคลากร – นักเรียน – นักศึกษา เข้าสู่ระบบการศึกษา และร่วมกันวางระบบงานด้วย 4) จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้และสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน โดยเชื่อมโยงพื้นฐานความจริงทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ที่มีต่องานหรือสถานประกอบการนั้นๆ ให้แก่ผู้เรียน ไปจนถึงการจัดการเวลาตลอดหลักสูตร 5) จัดระบบสนับสนุนสถานศึกษาและสถานประกอบการ โดยสร้างกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และสนับสนุนให้บุคลากร – นักศึกษา เลือกเข้าระบบการศึกษาแบบ demand ตั้งแต่ต้นจนจบ 6) ต้องมีการประเมินผลในทุกมิติ ทั้งในด้านความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ รวมทั้งต้องกำหนดเกณฑ์การจบการศึกษาทั้งภาคทฤษฎี – ปฏิบัติ – การสื่อสารที่จำเป็น เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาเข้าสู่โลกของการทำงานได้ทันที โดยมีประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร หรือใบรับรองมาตรฐานการประกอบอาชีพหรือมาตรฐานวิชาชีพ รองรับตามฐานของระดับการศึกษาและการฝึกอบรมทั้งในสถานศึกษาและสถานประกอบการ

สรุปว่าปรับสร้างจากความเคยชินเก่าๆ ที่เน้นด้านการผลิตมาสู่การตอบสนองความต้องการ โดยเปลี่ยนจาก Supply Side มาสู่ Demand Side และสร้าง Demand Driven ขับเคลื่อนให้การผลิตบุคลากร – การศึกษา เป็นไปตามความต้องการของสถานประกอบการที่อยู่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายการพัฒนาประเทศ แม้ต้องเผชิญอุปสรรคนานัปการ แต่ความร่วมมือเหล่านี้จะต้องดำเนินต่อไปเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือ ประสบการณ์และฐานความรู้ที่มีศักยภาพให้แก่ผู้เรียน ให้แก่คนไทย เป็นการส่งต่อแรงสั่นสะเทือนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนความสามารถในการปรับตัวให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจที่เคลื่อนไปอย่างไม่หยุดยั้งในโลกทุกวันนี้
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า การที่ อว. ควบรวมเป็นกระทรวงได้ ถือเป็นชัยชนะของนวัตกรรม ที่มหาวิทยาลัย กระทรวงวิทยาศาสตร์เดิมและสถาบันและหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยและคิดยุทธศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษากว่า 2,000,000 คน คณาจารย์และผู้สนับสนุนกว่า 200,000 คน ซึ่งเราจะต้องผนึกกำลังกันเพื่อคิดสร้างสรรรค์ผลงานและยกระดับการศึกษาไทยให้ก้าวไกล มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรเป็นมหาวิทยาลัยที่รับใช้สังคมที่สามารถดึงศักยภาพมาใช้ได้และการทำงานต้องมีเป้าหมาย ต้องมีธง ต้องตั้งเป้าความสำเร็จ อย่างชัดเจน อาทิ ภายใน 5 ปี มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องมีความเป็นเลิศในด้านใดด้านหนึ่ง ต้องมียุทธศาสตร์ ดังนั้น มหาวิทยาลัยส่วนต่างๆ ต้องมีความชัดเจนว่าในอนาคตข้างหน้าจะไปในทิศทางใด เราต้องดึงของดีของเราออกมาให้เป็นหลักสูตรและเผยแพร่ไปยังที่ต่างๆ เพื่อให้เขาสนใจและอยากที่จะมาศึกษาในที่ของเรา

 

Share