بازی انفجار سایت پیش بینی سایت شرط بندی
68 ผู้เกษียณ มศว ทรัพยากรบุคคลทรงคุณค่า - PRswu

68 ผู้เกษียณ มศว ทรัพยากรบุคคลทรงคุณค่า

ปลายเดือนกันยายนของทุกปี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จะมีผู้เกษียณอายุราชการมากน้อยไม่เท่ากัน ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มหาวิทยาลัยจะได้จัดงานแสดงกตเวทิตาจิตแด่ผู้เกษียณอายุ 60 ปี มาถึงปี 2561 นี้ก็เช่นกัน มหาวิทยาลัยมีผู้เกษียณอายุราชการรวมทั้งสิ้นจำนวน 68 คน มีทั้งที่เป็นข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย บุคลากรและลูกจ้างประจำจากแทบทุกหน่วยงาน บางหน่วยงานก็มีหลายคน บางหน่วยงานก็มีเพียงคนเดียว คำถามที่ตามมามีหลายคำถาม ต่างคนต่างคิด คิดต่อกันไปได้หลายข้อคิดเห็น ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรคือมหาวิทยาลัย ภาระงานทดแทน อัตราทดแทน หรือในส่วนของผู้เกษียณเองว่าเกษียณไปแล้วจะใช้ชีวิตทำอะไร เกษียณอย่างไรให้มีความสุข ผู้เกษียณบางคนรอคอยเวลานี้เพราะมีสิ่งที่อยากทำมากมาย แต่บางคนกลับไม่อยากเกษียณเพราะเกรงว่าจะกลายเป็นคนไร้คุณค่าหากไม่มีงานทำหรือไม่ได้ทำงาน

คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่เราจะสามารถทำงานฝ่าฟันอุปสรรคมาได้ เผชิญหน้ากับปัญหารุมล้อมรอบตัวและสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความก้าวล้ำทันสมัยให้เราเรียนรู้ในวันวัย 60 ปี และจำเป็นที่จะต้องลาจากสถานที่ทำงานอันเป็นที่รักที่ผูกผันเอาไว้มาอย่างยาวนาน อย่างน้อยที่สุดก็ค่อนชีวิต ถึงอย่างนั้นก็ตามผู้เกษียณทุกคนในทุกปีล้วนเป็นทรัพยากรบุคคลทรงคุณค่า พวกเขาทุกคนผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยในแต่ละช่วงยุคสมัย เรื่องราวทั้งสุขและทุกข์จะติดตราตรึงอยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืม ช่วงชีวิตหลังจากนี้จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันอย่างแน่นอน เพราะเป็นการใช้ชีวิตหลังเกษียณที่จะทำอย่างไรให้มีความสุขกายสุขใจ

รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี ตั้งใจมาร่วมงานกตเวทิตาจิตแก่ผู้เกษียณและมอบความสุขให้กับผู้เกษียณด้วยเพลงเพราะๆ อีกทั้งยังได้กล่าวสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เกษียณว่า “แม้ว่าพวกท่านจะเกษียณไปแล้วแต่มหาวิทยาลัยก็จะยังเป็นเสมือน ‘บ้าน’ หลังที่สองที่พร้อมจะต้อนรับและให้ความรักความผูกพัน ความอบอุ่นแก่พวกท่านเหมือนเดิม หากใครที่คิดว่ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นชีวิตเกษียณอย่างไรให้มีความสุข ก็อยากแนะนำให้เข้าร่วมชมรมผู้สูงอายุ มศว ที่มีท่านอาจารย์นงนารถและอาจารย์จันทร์ทิพย์เป็นหัวเรือใหญ่ดูแล มีกิจกรรมที่ดีทั้งเรื่องสาธารณะประโยชน์และการท่องเที่ยว เพื่อทำให้ชีวิตมีความเบิกบานสดชื่นสมกับที่เราท่านทั้งหลายรอคอยวันที่จะได้ผ่อนพักหลังจากการกรำงานประจำมาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผมเชื่อว่าผู้เกษียณ มศว เป็นบุคคลที่ยังมีความรู้ความสามารถที่มากพอสำหรับการทำกิจการงานอื่นๆ ที่ตนรักตนถนัด จึงอยากให้ชีวิตหลังเกษียณเป็นชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ สมหวังทุกประการ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิรินุช เทียนรุ่งโรจน์ อดีตผู้บริหาร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เป็นตัวแทนผู้เกษียณ ได้กล่าวความรู้สึกถึงความรักและความผูกพันที่มีต่อมหาวิทยาลัยผ่านภาพความทรงจำหนหลัง “พวกเราเป็นรุ่นที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยไปสู่การพัฒนา เราได้เห็นสระมรกตสวยงามที่เติบโตมาเป็นสำนักหอสมุดกลาง เราได้เห็นต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ล้อมรอบสนามฟุตบอลเติบโตไปเป็นสนามฟุตบอลและอาคารที่จอดรถใต้ดิน เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพจากอดีตสู่ปัจจุบันในหลายสิ่งหลายอย่าง หลายสิบปีที่เราทุกคนใช้ชีวิตเช้าจรดเย็นอยู่ ณ ที่แห่งนี้ มศว คือความรักและความผูกพันที่ไม่อาจลืมเลือน แม้ว่าเราจะเกษียณไปแล้วก็จริงแต่เราก็จะรักและคิดถึงบ้านหลังนี้ที่ให้ชีวิตแก่พวกเราเสมอไป”

ในปีถัดไปมหาวิทยาลัยก็จะมีผู้เกษียณอายุราชการใหม่เกิดขึ้นอีกไม่น้อย นั่นหมายความว่าเราเข้าใกล้สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยเราจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นและเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ สิ่งที่น่าชวนคิดตามมาคือรัฐบาลจะมีมาตรการหรือแผนการรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างไร รวมทั้งบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ในปัจจุบันก็ได้เตรียมเขียนแผนยุทธศาสตร์ของบประมาณรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยการระดมสรรพสมองจากบุคลากรหน่วยงานต่างๆ เข้าหารือจัดทำแผนฯ ร่วมกันเพื่อเตรียมเสนอผ่านสำนักงบประมาณแผ่นดิน ข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้มีเจตนาว่าการที่เรามีผู้สูงอายุนั้นจะไม่ใช่สิ่งที่ดี เพียงแต่เมื่อมีแล้วเราจะรองรับอย่างไรให้รัดกุมเพราะผู้เกษียณที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน คือทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่ามานักต่อนัก คนรุ่นที่ยังไม่เกษียณหรือยังไม่ได้เข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ก็ไม่ควรละเลยมองไม่เห็น “ค่าของคน” ของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เกษียณแล้วในวันนี้

ภัทรพร หงษ์ทอง : ข่าว
กฤชสุวัชร์ ประโยชน์พิบูลผล : ถ่ายภาพ

Share