بازی انفجار سایت پیش بینی سایت شرط بندی
“AED” ประจำจุด พื้นที่องครักษ์ เตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน - PRswu

“AED” ประจำจุด พื้นที่องครักษ์ เตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน

ปัจจุบันกระแสด้านการดูแลสุขภาพกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอน และงานวิ่งเพื่อการกุศล ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย พื้นที่ มศว องครักษ์เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีผู้ออกกำลังกายอยู่จำนวนมาก ทั้งนิสิตเอง บุคลากรของมหาวิทยาลัย รวมไปถึงบุคคลภายนอก เมื่อมีคนจำนวนมากเข้ามาใช้พื้นที่ก็จะเกิดความเสี่ยงที่จะมีผู้เกิดอาการหัวใจขาดเลือดหมดสติได้ตลอดเวลา เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่าเครื่อง “AED” จึงมีความสำคัญกับสถานที่สาธารณะมากขึ้น มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญด้านนี้จึงติดตั้งเครื่อง “AED” ไว้ตามจุดต่างๆ โดยรอบมหาวิทยาลัย เราจึงนำเรื่องนี้มาฝากกัน โดยมี ผศ.นพ.วรพล อร่ามรัศมีกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาองครักษ์ มาพูดคุยให้ความรู้กับเรา

                                                                     (ผศ.นพ.วรพล  อร่ามรัศมีกุล)

 

  1. ที่มาของโครงการในการซื้อเครื่องกระตุกหัวใจ AED เกิดขึ้นได้อย่างไร

ที่มาของโครงการมาจาก 2 ส่วนนะครับก็คือ

  1. บริเวณที่มหาวิทยาลัยจัดเป็นพื้นที่สาธารณะในการออกกำลังกายตรงที่เรามีคนมาวิ่งเยอะที่สุดคือบริเวณรอบวงเวียน ซึ่งเกิดเป็นจุดเสี่ยง เพราะว่าการวิ่งไม่ใช่เฉพาะนิสิตเท่านั้น แต่ยังมีบุคคลภายนอก ผู้สูงอายุเข้ามาวิ่ง ซึ่งปัจจุบันมีการตื่นตัวในการวิ่งมากขึ้น มีอีเวนท์วิ่งค่อยข้างเยอะและหลากหลาย แต่หลายคนออกกำลังกายอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองมีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงอื่นๆหรือไม่ เพราะฉะนั้นบริเวณเหล่านี้จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน เพราะในขณะที่เราออกกำลังกายหัวใจต้องใช้เลือดไปเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา
  2. การได้รับคำแนะนำมาจากผู้ใช้งานเพจเฟซบุ๊ก ที่ให้คำแนะนำในลักษณะของความเป็นห่วงต่อบุคลากร เจ้าหน้าที่ หรือบุคคลภายนอกที่มาวิ่ง รวมทั้งตัวนิสิตเองว่า ว่าจุดนี้มีคนมาออกกำลังกายกันเยอะ มหาวิทยาลัยมีเครื่องแบบนี้หรือไม่

ซึ่งนิสิตเองก็เริ่มตื่นตัวในเรื่องการดูแลสุขภาพ เพราะว่าภาวะการหยุดหายใจแบบเฉียบพลันเราสามารถช่วยคนไข้ได้ ถ้าเรารู้จักวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง แต่ถ้าเราไม่รู้วิธีการปั๊มหัวใจ วิธีการเป่าปากที่ถูกต้อง เราสามารถอาศัยการใช้เครื่องมือตัวนี้ ในการตรวจสอบ ว่าเราต้องทำอย่างไรกับคนไข้บ้าง ซึ่งเครื่องมือตัวนี้เป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างใช้งานได้ง่าย และนิยมใช้กันในวงกว้าง ซึ่งนิสิตที่ออกกำลังกายหรือไปวิ่งในอีเวนท์ต่างๆ เค้าจะเห็นเครื่องตัวนี้ จึงเกิดความตระหนักว่า ภายใน มศว ของเราเองก็น่าจะมีเครื่องนี้ด้วย มหาวิทยาลัยจึงนำเอาข้อมูลตรงนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งงบประมาณในการซื้อเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติเข้ามาติดตั้งภายใน มศว องครักษ์

 

  1. จุดติดตั้งของเครื่อง AED ติดตั้งจุดไหนบ้างและกำหนดอย่างไร

จุดติดตั้ง และวางให้บริการ เป็นสิ่งสำคัญที่เมื่อมีเครื่องแล้วคือต้องเป็นจุดที่มีบุคคลอยู่หนาแน่น พลุกพล่าน และเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะด้านหัวใจ ซึ่งจุดติดตั้งต่างๆ นั้นมาจากการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินงานองครักษ์และส่วนพัฒนาความยั่งยืนเพื่อจะพิจารณาว่าพื้นที่ตรงไหนจะเหมาะสมที่สุดและได้สถานที่ 4 จุดในการติดตั้งคือ

  1. บริเวณจุด รปภ.เรือนไทย โดยมองว่าจุดนี้อยู่ใกล้กับบริเวณวงเวียนที่เป็นแหล่งออกกำลังกายของนิสิต บุคคลากรและคนภายนอก
  2. บริเวณชั้น 1 อาคารเรียนรวม ซึ่งเป็นอาคารที่มีนิสิตและคณาจารย์ใช้งานอยู่ตลอดเวลา
  3. บริเวณอาคารที่พักบุคลากร อาคารกัลยาณมิตร ซึ่งบุคลากรมีภาวะเสี่ยงที่จะเกิดอาการหัวใจขาดเลือดหรือการหยุดเต้นของหัวใจได้ เพราะบุคลากรก็มีอายุค่อนข้างเยอะ ซึ่งจุดนี้สามารถรองรับเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดกับบุคลากรของเรา
  4. รถตรวจการของ มศว องครักษ์ ซึ่งรถคันนี้เป็นรถที่มีไซเรน จะสามารถเครื่อนที่เร็วไปยังจุดต่างๆของมหาวิทยาลัยได้อย่างทันท่วงที

 

  1. แนวทางการเข้าถึงหรือสามารถใช้งานเครื่อง AED เป็นอย่างไร

ด้านการใช้เครื่อง AED ประเด็นแรกเรามองว่าคนที่ต้องใช้เป็น คือคนที่ต้องอยู่หน้างานและรับผิดชอบหลักที่จะต้องดูแลเครื่องเป็นคือ รปภ. ซึ่งแต่ละจุดที่เราวางเครื่องไว้เป็นบริเวณที่ รปภ. ประจำอยู่ เราก็เลยต้องกำหนดว่า รปภ. ที่จะเข้ามาทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยจะต้องผ่านการอบรมเรื่องการฟื้นคืนชีพเบื้องต้นรวมทั้งการใช้เครื่องมือ ซึ่งได้มีการจัดอบรมไปแล้ว ทั้งหมด 4 รุ่น โดย 3 รุ่นเป็น รปภ.และบุคลากรในมหาวิทยาลัย และอีก 1 รุ่นเป็นนิสิต โดยโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผุ้ที่ผ่านการอบรม มีความรู้ในการใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า และมีความรู้ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งอาจสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยเบื้องต้นได้ก่อนถึงมือแพทย์ เพราะนิสิตอาจเป็นคนที่พบเจอเหตุการคนหัวใจหยุดเต้น ก็สามารถหยิบเครื่องตามจุดต่างๆ มาใช้ได้เลย แต่ถ้าเหตุไม่ได้เกิดตามจุดที่มีเครื่องอยู่ใกล้เคียง ก็สามารถประสานงานกับ รปภ. เพื่อวิทยุตามรถตรวจการที่มีเครื่อง AED อยู่บนรถ ให้นำเครื่องมาถึงตัวผู้ป่วยได้

นอกจากนั้น เครื่อง AED ยังเป็นเครื่องที่ใช้งานง่ายถึงแม้ไม่ได้ผ่านการอบรม ตัวเครื่องเป็นระบบอัตโนมัติและเครื่องจะบอกวิธีการใช้งานตามขั้นตอนอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่การเข้าอบรมก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และทำให้เราไม่ตื่นตระหนกเวลาที่เราต้องใช้เครื่องจริง เพราฉะนั้น ผู้อบรมทั้ง 4 รุ่นที่เน้นทั้ง รปภ. เจ้าหน้าที่และนิสิต ให้ได้ฝึกปฏิบัติจริง โดยได้รับเกียรติจากทางคณะแพทย์ ที่ดูแลด้านการฟื้นคืนชีพเบื้องต้น ในการให้ความรู้และทดสอบจริง การใช้เครื่องแบบเดียวกันกับที่ติดตั้งภายในมหาวิทยาลัย และได้มอบเกียรติบัตรให้กับผู้อบรมด้วย หลังจากนั้นจะมีการประเมินว่า นิสิตและบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องหรือการช่วยชีวิตเบื้องต้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ก็จะมีการทำโครงการในปีการศึกษาต่อๆไป โดยจะเน้นส่วนของนิสิตเป็นหลัก โดยเฉพาะนิสิตใหม่ที่เข้ามาในแต่ละปีการศึกษา รวมทั้งอาจจะมีการทบทวนความรู้ ให้กับบุคลากร เช่น รปภ. ซึ่งอาจจะเปลี่ยนผู้ปฏิบัติงานหรืออาจจะไม่ได้ใช้เครื่องก็จะมีการทบทวนความรู้ให้อย่างต่อเนื่อง

  1. ด้านกระบวนการส่งต่อผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วต้องทำอย่างไร

กรณีที่พบเจอผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นหรือเจ็บป่วยอื่นๆ ในพื้นที่เขต มศว องครักษ์ ก็สามารถที่จะประสานงานกับ รปภ. เพื่อวิทยุแจ้งรถตรวจการในการประสานกับทางโรงพยาบาล โดยถ้าเราสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ก็สามารถเคลื่อนย้ายโดยรถตรวจการในการนำส่งโรงพยาบาลได้ทันที แต่ถ้าประเมินแล้วว่าไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อาจจะต้องรอรถพยาบาลเพื่อเคลื่อนย้านผู้ป่วยต่อไป ส่วนพื้นที่ของหอพักนิสิต สามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่หอพักได้โดยตรงซึ่งแต่ละหอจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่แล้ว

  1. คิดว่าจำนวนเครื่องมือเพียงพอกับพื้นที่มากน้องเพียงใด

ด้านจำนวนของเครื่องมือ อนาคตจะมีเพิ่มเติมหรือไม่ คงจะต้องทำการประเมินอีกครั้ง ว่ามีเหตุการณ์ตรงจุดใด มากน้อยแค่ไหนอาจจะต้องมีการย้ายจุดติดตั้งหรือมีเครื่องเพิ่มเติม แต่เบื้องต้นตอนนี้จากพื้นที่และจำนวนผู้อยู่อาศัยภายใน มศว องครักษ์ เครื่องตามจุดต่างๆถือว่าเพียงพอ เพราะที่ผ่านมาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีค่อนข้างน้อย แต่มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หากมีการรายงานกลับมาจากผู้ใช้เครื่องมือ หรือผู้ใช้พื้นที่จะต้องนำข้อมูลทุกด้านมาทบทวนอีกครั้งว่าจำเป็นต้องซื้อเครื่องเพิ่มหรือไม่

การออกกำลังกายแต่ละประเภทนั้นล้วนให้สุขภาพที่ดีแก่ผู้เล่นเอง แต่ด้านสภาพร่างกายนั้นหลายๆ คนอาจจะไม่เคยรู้ปัญหาหรือความเสี่ยงของตนเอง การที่มหาวิทยาลัยมีมาตรการในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถือได้ว่าสามารถสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับผู้ที่ใช้พื้นที่ มศว องครักษ์ ในการออกกำลังกายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

 

เรื่อง / ภาพถ่าย : วารุณี สิรินทร์

Share