بازی انفجار سایت پیش بینی سایت شرط بندی
1 ปี วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว ตอบโจทย์ “สร้างคนสร้างสรรค์” - PRswu

1 ปี วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว ตอบโจทย์ “สร้างคนสร้างสรรค์”

คุณสราวุฒิ สุวรรณรัตน์ ประธานบริษัท นคร เจมส์ จำกัด กรรมการสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย คือหนึ่งในศิษย์เก่าเอกจิเวลรี่ มศว กล่าวว่า “ผมชื่นชมคนที่คิดชื่อวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว นะครับ ว่ามีคำว่า ‘สร้างสรรค์’ ทำให้มองเห็นอนาคตของวิทยาลัยนี้ชัดเจนและจะไม่หลงทิศทาง เพราะโลกเปลี่ยนไป การแข่งขันสูงมากขึ้นในทุกวงการ ถ้าเราไม่ ‘สร้างสรรค์’ เราจะล้าหลัง ย่ำอยู่กับที่และจะแข่งขันใครไม่ได้”

ในวาระครบรอบ 1 ปีของวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว วันที่ 6 ธันวาคม 2561 ปีแรกนี้มีเหล่าผู้บริหารตั้งแต่อธิการบดีและคณบดีเข้าร่วมแสดงความยินดีและร่วมรับฟังทิศทางการพัฒนาเติบโตของวิทยาลัยฯ อย่างอบอุ่นในบรรยากาศสุดสร้างสรรค์เช่นกัน ในแนวคิด การสร้างคนสร้างสรรค์ ต้องสร้างอย่างมีคุณภาพซึ่งต้องเริ่มจากการสร้างหลักสูตรคุณภาพนั่นเอง

ในรอบปีที่ผ่านมา วิทยาลัยฯ ได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรระดับปริญญาตรีสองภาษาขึ้นใหม่ 2 หลักสูตร และปรับปรุงอีก 1 หลักสูตร หลักสูตรอัญมณีและเครื่องประดับ (หลักสูตร 2 ภาษา) ฉบับปรับปรุงจะเริ่มใช้ในปี 2562  โดยได้เชิญศิษย์เก่าบางท่านเมื่อครั้งที่ยังเป็นสาขาวิชาเอกอัญมณีและเครื่องประดับในคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันต่างก็ไปประกอบอาชีพประสบความสำเร็จระดับชาติ บ้างก็สืบสานต่อยอดกิจการของครอบครัว มาร่วมแลกเปลี่ยนให้ความรู้แก่น้องๆ รุ่นหลัง ในกิจกรรมการเสวนา “ทิศทางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย” ได้แก่ คุณคณาพจน์ อุ่นศร เจ้าของแบรนด์ KANAPOT AUNSORN ผู้คร่ำหวอดและคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดเวทีผ้าไทยจนโด่งดัง คุณศรุตา เกียรติภาคภูมิ เจ้าของแบรนด์ PINMETALART ผู้ที่ผสมผสานความรู้วิชาทัศนศิลป์เข้ากับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงธุรกิจได้อย่างร่วมสมัย คุณสมศักดิ์ บุญคำ เจ้าของแบรนด์ LOCAL ALIKE  คุณสราวุฒิ สุวรรณรัตน์ ประธานบริษัท นคร เจมส์ จำกัด กรรมการสมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงิน ร่วมด้วยคุณบุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ เจ้าของแบรนด์ 31 THANWA โดยแขกรับเชิญคนรุ่นใหม่แต่ละท่านก็ได้ให้ข้อมูลความรู้และประสบการณ์จริงจากการทำงานในเส้นทางสายอาชีพวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของตนเอง แก่น้องๆ นิสิตที่กำลังเป็นรุ่นแรกของวิทยาลัยฯ ตลอดจนคนร่วมอาชีพร่วมวงการอย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบันตลาดการแข่งขันของผู้ผลิตและผู้บริโภคดีดตัวสูงมากโดยเฉพาะวงการอัญมณีและเครื่องประดับ นับวันจะอยู่ยากมากขึ้นหากไม่มีพลังความคิดสร้างสรรค์ ไม่ต่างจากวงการแฟชั่นสิ่งทอ เครื่องหนัง ทุกอย่างต้องได้รับการออกแบบผสมผสานร่วมกับองค์ความรู้ต่างๆ ดังเช่น ความรู้และความสนใจในเรื่องของสถาปัตยกรรมโครงสร้างของคุณบุณยนุช เจ้าของแบรนด์ 31 THANWA ก็แสดงให้เห็นว่า จากธุรกิจการเป็นผู้ผลิตรองเท้ามาเก่าแก่ยาวนานนับ 70 กว่าปีของธุรกิจครอบครัว ก็ต้องได้รับการสร้างสรรค์ให้รองเท้าหนังของแบรนด์นี้แตกต่างจากรองเท้าแบรนด์อื่นๆ เป็นต้น

 

วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว เป็นอีกหนึ่งวิทยาลัยที่น่าจับตามองการเติบโตอย่างแข็งแกร่งยั่งยืนกับกระแสความต้องการของผู้เรียนคนรุ่นใหม่ในอนาคต ว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการเรียน เนื่องจากอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของภาครัฐ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงมีนโยบายให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้ก้าวทันอุตสาหกรรมแบบดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สอดคล้องกับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเทศไทยให้แข่งขันได้ระดับสากลในอนาคต

ทั้งนี้การเปิดตัวศูนย์ KiThai  เสริมความแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยในงาน “บางกอก เจมส์ฯ 62” ศูนย์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย หรือ KiThai (Kreative Industry of Thailand) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2561 เป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (College of Creative Industry) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในองค์ความรู้ในศาสตร์ศิลปะและวิทยาศาสตร์ ด้านอัญมณี เครื่องประดับแฟชั่นและของตกแต่งบ้าน เพื่อเป็นการเพิ่มพลังสร้างสรรค์ นวัตกรรมอุตสาหกรรม และเสริมความเข้มแข็งให้ ผู้ประกอบการไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ จึงเปิดตัว KiThai ภายในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 62 (Bangkok Gems and Jewelry Fair) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2561 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพค เมืองทองธานี

หลักสูตรของวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว จะมีประโยชน์มากสำหรับการพัฒนาขีดความสามารถด้านการออกแบบและนวัตกรรม ให้สามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่ม มีโอกาสขยายธุรกิจและขยายตลาดสินค้าได้ต่อไปในอนาคต หรือไปสู่การยอมรับในระดับสากลแก่ผู้เรียน นอกจากนี้วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ยังมีนวัตกรรมที่ช่วยชุมชนหรือมีการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน ภาคเอกชนและภาครัฐบาลในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การทำงานด้านแฟชั่นสิ่งทอร่วมกับชุมชนในพื้นที่ กรมหม่อนไหมสามารถนำไปช่วยพัฒนาอาชีพให้กับชาวชุมชน ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต่างประเทศได้ด้วย ถือว่าเป็นสนับสนุนทั้งผู้ประกอบการผู้ผลิตรายย่อยและแรงงานชุมชน ในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ ตนเองและครอบครัว เป็นต้น จึงเป็นการนำองค์ความรู้ทางวิชาการ การวิจัย มาเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่แข่งขันได้ระดับสากลในอนาคต เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นและสังคม เข้าสู่ยุคดิจิทัล

ผศ. ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี คณบดีวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว ได้ขยายความว่า “1 ปีที่ผ่านมานี้ เราได้ทำงานสร้างความเข้มแข็งให้กับวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์กันอย่างไม่ลดละ โดยความร่วมแรงร่วมใจและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน วันนี้ได้มีการนำเสนอตัวอย่างงานนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มาจากงานวิจัยของวิทยาลัย และงานสร้างสรรค์ ที่เกิดจากโจทย์ของผู้ประกอบการหรือชุมนุม ผ่านกระบวนการเรียนการสอนจนได้เป็นผลงานที่สามารถผลิตขายได้จริง ซึ่งนิสิตของเราจะได้เรียนในหลักสูตรเรียนจริง ดูเป็น ทำเป็น ขายเป็น คิดเป็น ตลอดระยะเวลาของการเรียนนี้ นิสิตและคณาจารย์จะต้องตื่นตัว ตื่นตาตื่นใจกับนวัตกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ คิดอย่างสร้างสรรค์และทำอย่างสร้างสรรค์เพราะเราเป็นวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่สร้างคนสร้างสรรค์”

Share