มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้รับเกียรติในการจัดการประชุมวิชาการประจำปีเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7 (The 7th Annual Conference of Sustainable University Network of Thailand) และการประชุมสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 20 มกราคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ภายใต้แนวความคิด “Actions toword the low-carbon world”
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้จัดพิธีเปิดการประชุมวิชาการประจำปีเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7 (The 7th Annual Conference of Sustainable University Network of Thailand) และการประชุมสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 ณ หอประชุมใหญ่โรงเรียนสาธิต มศว องครักษ์ โดยมี นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี กล่าวรายงานการจัดงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรี ดร.กิตติคุณ รุ่งเรือง รองอธิการบดีฝ่ายองครักษ์และพัฒนากายภาพ ในนามประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 และในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม
รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า “ในนามของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีการจัดการประชุมวิชาการประจำปีเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนามหาวิทยาลัยในเครือข่ายสู่ความยั่งยืน เพื่อเป็นการจัดประชุมวิชาการและการประชุมประจำปีเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand : SUN Thailand) ประจำปี 2565 เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในฐานะประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ประจำปี2565”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรี ดร.กิตติคุณ รุ่งเรือง รองอธิการบดีฝ่ายองครักษ์และพัฒนากายภาพ ในนามประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “การประชุมวิชาการประจำปีเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7 (The 7th Annual Conference of Sustainable University Network of Thailand) และการประชุมสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 เป็นการประชุมเพื่อกำหนดแนวนโยบายในการพัฒนามหาวิทยาลัยยั่งยืน มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ภายในประเทศให้สอดคล้อง เชื่อมโยงต่อบริบทการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับนานาชาติ อันเป็นต้นแบบสำคัญของภาคส่วนภายในสังคมของประเทศที่สามารถใช้เป็นต้นแบบเพื่อการขยายผลการดำเนินงานสู่ภาคส่วนอื่น โดยการประชุมวิชาการในครั้งนี้ เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนฯ ได้จัดกิจกรรมภายใต้ “Theme : Actions toward the low-carbon world” เพื่อเป็นการตอบรับนโยบายของประเทศสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 (Carbon Neutrality 2050) และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ปี ค.ศ. 2065 (Net Zero Emission 2065) ทั้งนี้ มีการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในหัวข้อที่เกี่ยวกับ Theme งานการศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในฐานกิจกรรมของมหาวิทยาลัย การนำเสนอบทความของคณาจารย์ บุคลากร จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเครือข่าย และการจัดประกวดผลงานด้านความยั่งยืน ของนักเรียน นิสิต นักศึกษาอีกด้วย”
นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานในพิธีกล่าวว่า “จากคำกล่าวรายงานของประธานเครือข่ายฯ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้ทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้วยฐานคิดที่ต้องการให้เกิดภาวะความยั่งยืน ในแง่ของฐานทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจและภาวะคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อมนุษยชาติในรุ่นต่อๆ ไปอย่างยั่งยืน สถาบันการศึกษา ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีบทบาทสำคัญ ในการสร้างองค์ความรู้ผ่านกระบวนการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมรวมถึงการนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดผ่านกลไกการประยุกต์เพื่อให้เกิดการใช้งานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ประเทศชาติ และสังคมโลก ที่ผ่านมาได้มีโอกาสได้ลงพื้นที่ในส่วนภูมิภาค ก็จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันหลายๆมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะโครงการ UTP ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรี ก็ได้นำคณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ลงพื้นที่ถึงระดับตำบลและนำงานวิจัยไปช่วยเหลือเพื่อยกระดับเศรษฐกิจให้กับชุมชน และศาสตราจารย์ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เช่นเดียวกัน ท่าน สนับสนุนเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสังคม นั่นหมายความว่า มหาวิทยาลัยต้องไม่ใช่มุ่งการสอนอย่างเดียว แต่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ หรือ Engagement กับสังคมด้วย โดยเน้นย้ำว่า อยากจะให้เกิดการวิจัยแบบไปสู่ชุมชน หรือสู่ธุรกิจ และเราต้องไม่เก็บตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป และต้องพร้อมที่จะออกไปช่วยคนอื่น ไปเรียนรู้จากวิกฤติ ไปเรียนรู้จากปัญหา แล้วก็เอาประสบการณ์กลับเข้ามายังมหาวิทยาลัย สร้างขึ้นมาเป็นองค์ความรู้ที่สูงกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ใหญ่ที่สุดในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ ที่เน้นการสร้างคน สร้างความรู้ และสร้างนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสร้างความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศ จากวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุม นับได้ว่าเป็นแนวทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศ ให้สอดคล้อง เชื่อมโยงต่อบริบทการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับนานาชาติ ได้ต่อไป”
ทั้งนี้งานประชุมและกิจกรรมทั้ง 2 วันยังมีอีกหลากหลายส่วนทั้ง การบรรยายในหัวข้อ “นโยบายไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 (Carbon Neutrality 2050) และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065 (Net Zero Emission 2065) โดย นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การนำเสนอผลงานด้านความยั่งยืนของคณาจารย์และบุคลากร การบรรยายหัวข้อเรื่อง “การจัดทำบัญชีรายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกองกร (Carbon Footprint for Organization)” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กิจกรรมการเรียนรู้ “พรรณไม้บำบัดฝุ่นมลพิษ PM2.5” โดยคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การบรรยายในหัวข้อเรื่อง “แนวโน้ม ทิศทาง อนาคต : ภาวะโลกร้อน คาร์บอนเครดิร” โดย นางสาวอโณทัย สังทอง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีลารสื่อสารองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) การแบ่งกลุ่มการเรียนรู้พื้นที่การเรียนรู้ ณ มศว องครักษ์ รวม 5 จุด ได้แก่
- โรงงานต้นแบบแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมมาส แก้วล้วน คณะวิศวกรรมศาสตร์
- โรงคัดแยกขยะ มศว องครักษ์ โดย อาจารย์ ดร.ณภัทร โพธิ์วัน คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
- โครงการพัฒนาถังปฏิกรณ์ชีวภาพแบบมีเมมเบรนเพื่อการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ โดยอาจารย์ ดร.สุธิดา ทีปรักษพันธุ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
- คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร
-ห้องปฏิบัติการธุรกิจอาหารต้นแบบ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนัท อมาตยกุล
-โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมลชัย ชะอม
- โครงการรักษ์โลกด้วยการทำปุ๋ยหมักจากใบไม้แห้งเพื่อใช้ในสวนสมุนไพร โดย นางสาววัลลภา จิตตะชัย คณะเภสัชศาสตร์
และยังมีการประกวดโครงงานและนวัตกรรมความยั่งยืนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประจำปี 2565 อีกด้วย
สามารถติดตามภาพถ่ายเพิ่มเติมได้ที่ https://photos.swu.ac.th/