“ถ้าเราหมดไฟในการทำงานจะทำอย่างไร”
หมอเฉลิมชัย ชี้ “แรงบันดาลใจ” มีพลังมากกว่า “แรงจูงใจ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครนิทรวิโรฒ (มศว) เผยว่าถ้าคุณกำลังตกอยู่ในสภาวะที่รู้สึกสูญเสียพลังงานในการทำงานแต่ละวัน มีความรู้สึกต่อต้านและมองตัวเองในแง่ลบ แม้แต่ขาดแรงจูงใจหรือแรงกระตุ้นในการทำงานและศักยภาพการทำงานถดถอยและแย่ลงๆ พูดง่ายๆ คือคุณกำลังหมดไฟในการทำงานหรือแรงบันดาลใจในการทำงานในตัวคุณกำลังจะมอดไหม้ลงไปทุกขณะ ภาวะเช่นนี้เรียกว่า Burnout Syndrome
ในเดือนสิงหาคม ปี 2565 สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นกับคนไทยในวัยทำงาน สะท้อนให้เห็นว่าพนักงานจากหลายหน่วยงานหมดไฟในการทำงานหรือขาดแรงบันดาลใจที่จะไปต่อในสายอาชีพของตัวเอง โดยข้อมูลจากภาวะสังคมไทย Social Situation and Outlook ไตรมาสสอง ระบุว่า กลุ่มอาชีพที่มีภาวะหมดไฟในการทำงานมากที่สุดคือ พนักงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 77 รองลงมาคือบริษัทเอกชนร้อยละ 73 ข้าราชการร้อยละ 58 และธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 48 สำหรับสาเหตุหลักของภาวะหมดไฟในการทำงาน ได้แก่ ภาระงานที่หนักเกินไป ขาดเครื่องมือหรือการสนับสนุนในการทำงานที่เหมาะสม หัวหน้างานไม่มีความรับผิดชอบหรือไม่รับฟังความคิดเห็น โครงสร้างองค์กรขาดความยืดหยุ่น ดังนั้น นายจ้าง/องค์กรต่างๆ อาจจะต้องมีการกระตุ้นให้มีโครงการที่สร้างสรรค์และออกแบบให้คนในองค์กรมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน
โอกาสนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตอธิการบดี มศว กล่าวว่า “แรงบันดาลใจเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2566 นี้ คือส่งพลังบวกบวก ป้องกันภาวะหมดไฟทำงานและพร้อมรับมือกับงานทุกๆ รูปแบบ ไม่ว่างานประจำ งานเร่ง งานท้าทายต่างๆ และข้อคิดก้าวข้ามแรงจูงใจสู่แรงบันดาลใจในการทำงาน ดังนี้ ทิศทางชีวิตการทำงานของคนเราใช้แรงบันดาลใจเป็นหลัก โดยอาศัยภูมิความรู้ (Wisdom) และ ประสบการณ์ (Experience) ถ้าเราไม่กำหนดอะไรสักอย่างมาในชีวิต ชีวิตจะไหลไปเรื่อยๆ ปีใหม่ทำให้เราได้ทบทวนถึงอดีตที่ผ่านมาแล้วมองไปข้างหน้าวางแผนอนาคตว่าจะทำอย่างไร สิ่งที่น่าเป็นกังวลสำหรับคนที่ทุ่มเทกับการทำงานอย่างหนัก คือ การใช้แรงบันดาลใจแบบไม่มีประสบการณ์ จนลืมคำนึงถึงสภาพร่างกายของตนเอง นอกจากนี้คนส่วนใหญ่ที่ทุ่มเทการทำงานให้กับการทำงานให้กับองค์กรมาก เสียสละตัวเองมาก แต่หากวันหนึ่งองค์กรตอบแทนกลับคืนมาดีในระดับหนึ่งและรู้สึกไม่พึงพอใจ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้มนุษย์เงินเดือนหลายคนมีแรงบันดาลใจลดน้อยลง แนวคิดที่จะช่วยพยุงความรู้สึกของคนทำงานเพื่อมิให้แรงบันดาลใจหายไปก็คือ ให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมไม่น้อยไปกว่าประโยชน์ส่วนตนและให้คำนึงถึงหน้าที่ไม่น้อยไปกว่าสิทธิและเสรีภาพ แต่ไม่ควรมีสิทธิและเสรีภาพมากกว่าหน้าที่หรือไม่ก็ให้น้ำหนักที่เท่ากัน ขณะที่บางเรื่องสำคัญแต่ไม่จำเป็น บางเรื่องจำเป็นแต่ไม่ค่อยสำคัญ แต่แรงบันดาลใจเป็นทั้งเรื่่องที่จำเป็นและสำคัญ ก่อนที่จะไปคิดสร้างแรงบันดาลใจต้องรวบรวมประสบการณ์และองค์ความรู้ที่มีแล้วเอามาทบทวน จัดหมวดหมู่ วิเคราะห์ข้อดีและข้อเสีย พยายามสังเคราะห์เพื่อหาแนวทางหรือวิธีการที่จะดำเนินการในอนาคตให้ได้ ซึ่งผู้บริหารองค์กรมักใช้ Motivation (แรงจูงใจ) มากกว่า Inspiration (แรงบันดาลใจ) เพราะมันง่ายและเป็นรูปธรรม ซึ่งอันที่จริง “แรงบันดาลใจ” มีพลังมากกว่า “แรงจูงใจ” เพราะแรงจูงใจอาจเป็นตัวนำมาซึ่งการร้องเรียน ทะเลาะเบาะแว้งเมื่อพนักงานมองว่าสิ่งที่ได้รับไม่เป็นธรรมกับตัวเอง แรงบันดาลใจในแต่ละคนไม่เท่ากัน แรงบันดาลใจในบางคนเกิดจากพันธุกรรม โครโมโซม บางคนมีแรงบันดาลใจที่เกิดจากสภาพแวดล้อม ครอบครัว เพื่อน การศึกษา หรือจากประสบการณ์ที่ประสบมา การสร้างแรงบันดาลใจทำได้ไม่ยากแต่ต้องเลือกให้เป็น ไม่ว่าจะเป็นการอ่านบทความดีๆ การอ่านหนังสือดีๆ ซึ่งสมัยนี้หาง่ายเพียงแค่เข้าอินเตอร์เน็ต หากเราท้อแท้มากหรือหมดไฟในการทำงานมาก ก็แค่ถามว่า ‘อ่านเล่มไหนดี’ เพราะหนังสือที่สร้างแรงบันดาบใจมักสร้างจากเรื่องจริงเพราะถ้าสร้างจากเรื่องไม่จริง แรงบันดาลใจมันจะไม่แรงพอ ท้ายที่สุดเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ หาบุคคลต้นแบบมาเป็นแนวทางสร้างแรงบันดาลใจ แล้วตั้งเป้าหล่อเลี้ยงว่าจะทำงานตามแรงบันดาลใจ โดยใช้ปัญญา ใช้ประสบการณ์และการบริหารจัดการที่ดีสร้างอนาคตให้กับตนเองและองค์กรเช่นกัน ปีที่ผ่านมาเราเข้มแข็งแค่ไหนที่ผ่านมาได้ แล้วลองวางแผนสร้างอนาคตดีๆ ในปีนี้ไปด้วยกันด้วยการมี “แรงบันดาลใจ” มากกว่า “แรงจูงใจ”