สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดแถลงข่าว “โมเดลสวนลดฝุ่น PM 2.5 และ เฝ้าระวัง PM 2.5” เพื่อช่วยลดผลกระทบปัญหาฝุ่นละออง ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่สูงเกินมาตรฐาน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการแถลงข่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ร่วมแถลงข่าว ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และ สวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลดฝุ่น PM2.5” สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จจากผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จสู่การใช้ประโยชน์ โดยการสื่อสารและให้เห็นภาพการทำงานที่เกิดสาธารณประโยชน์แก่พี่น้องภาคประชาชน ซึ่งในขณะนี้ ปัญหาฝุ่นละออง หรือ ฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นทุกปี วช. เล็งเห็นถึงปัญหาที่ประชาชนได้รับ จึงสนับสนุนทุนวิจัยในแผนงานโครงการวิจัยเพื่อทำงานในเชิงพัฒนาชุดข้อมูลองค์ความรู้จากงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เกิดเป็นระบบสารสนเทศ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบจาก ฝุ่น PM2.5 ซึ่งผลงานดังกล่าวอยู่ในกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วช. ได้นำระบบเทคโนโลยีการเฝ้าระวังมาใช้ในการให้ข้อมูลเชิงสาธารณกับพี่น้องประชาชน คือ “ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ” หรือ “ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ (Air Quality Information Center: AQIC)” ที่มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการติดตามเฝ้าระวังและเตือนภัยด้วยข้อมูลฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีการรายงานผลและเห็นภาพของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นเซ็นเซอร์ในการตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ที่สามารถติดตามคุณภาพอากาศของประเทศได้ อาทิ DustBoy ที่รายงานผลในระบบของการติดตามคุณภาพอากาศ และการติดตามในเชิงระบบ การจำลองคุณภาพอากาศ การพยากรณ์คุณภาพอากาศ การติดตาม โดยข้อมูลการทำงานดังกล่าวเป็นการร่วมมือและเชื่อมโยงข้อมูลจากภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงาน ทั้งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มลภาวะ มลพิษทางอากาศ ซึ่งทำให้เห็นการเข้าถึง เกิดนวัตกรรมในลักษณะเทคโนโลยี เกิดรูปแบบของการใช้งานที่ไม่ยุ่งยาก เช่น เว็บไซต์ แอปพิเคชันบนมือถือ เป็นต้น